ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – เกษตรแปลงใหญ่โคนมวิสาหกิจชุมชนโคราชโอด เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจำนวนมากแบกรับภาระหนี้ผูกพันอ่วม ทำเข้าถึงเงินทุนก้อนใหม่ไม่ได้ ขาดเงินหมุนเวียนหนัก วอนรัฐบาลช่วยขยายเกณฑ์พักชำระหนี้เกิน 5 แสนบาท ให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ พร้อมขยับราคารับซื้อนมและเพิ่มค่าส่วนต่างศูนย์รวบรวมน้ำนมให้สูงขึ้น
วันนี้ ( 22 ธ.ค.67 ) นายสมาน เจิมขุนทด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประธานแปลงใหญ่กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมตำบลพลกรัง และ ประธานบริษัทแปลงใหญ่โคนมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมพลกรัง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า วันนี้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจำนวนไม่น้อย ยังคงประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต และต้องแบกรับภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากโรคระบาดสัตว์ ทั้งโรคปากเท้าเปื่อยที่มีการระบาดมาตั้งแต่ ปี 2561 จนมาถึงโรคลัมปีสกิน ในปี 2563-2564 ทำให้ศูนย์นมฯ และเกษตรกร เลิกเลี้ยงโคนมกันเป็นจำนวนมาก
ส่วนฟาร์มหรือศูนย์นมที่เหลือก็ลำบากกันพอสมควร เพราะยังมีค่าใช้จ่ายสูง และมีภาระหนี้สินอยู่ ทำให้ไปต่อได้ยาก แม้จะรวมตัวเป็นแปลงใหญ่หรือเป็นวิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากทางภาครัฐ มาซื้อรถสิบล้อบรรทุกน้ำนมส่งโรงงาน และเครื่องมือ-เครื่องมือจักร แต่การบริหารจัดการ ยังขาดแคลนเงินหมุนเวียนภายใน จึงอยากให้มีการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบ้าง พักทั้งต้นทั้งดอก พอให้เกษตรกรและกลุ่มผู้เลี้ยงฯ ลืมตาอ้าปากได้บ้าง
ที่ผ่านมา มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร จะจำกัดมูลหนี้ต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแทบทุกรายจะมีหนี้สินมากกว่านั้น จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือ เกษตรกรจึงต้องไปพึ่ง ธ.ก.ส.กู้สินเชื่อออกมาใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น แปลงใหญ่กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมตำบลพลกรัง เดิมมีสมาชิก อยู่ 35 ราย ปัจจุบันเหลือสมาชิกแค่ 29 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลพลกรังและที่เหลืออยู่ในตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งตอนนี้ มีโคนม อยู่ประมาณ 1,100 ตัว จะจัดส่งน้ำนมไปให้กับบริษัทคู่ค้า จำนวน 2 บริษัท
แต่ทางศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของตน ซึ่งเป็นศูนย์เล็กๆ ผลิตนมได้ไม่เกินวันละ 5 ตัน กลับมีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระรายเดือนทั้งต้นและดอกอยู่ ประมาณเดือนละ 700,000 กว่าบาท จะขอสินเชื่อเงินกู้เพิ่มจากสถาบันการเงิน 500,000 – 1,000,000 บาท เพื่อนำมาพัฒนา-ซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเข้าศูนย์ฯ แต่ก็กู้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ SME ผู้ประกอบการรายย่อย ออกมาก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจะกู้ได้ เพราะไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากเมื่อก่อนรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจ ขอกู้สินเชื่อได้มาเกิน 3,000,000 บาท ซึ่งได้นำมาลงทุนสร้างศูนย์นมและเป็นเงินบริหารจัดการ ซึ่งต่อมา ถูกบังคับให้จดทะเบียนเป็นบริษัทแปลงใหญ่ จึงได้กู้สินเชื่อมาอีกส่วน เพื่อนำบริหารจัดการและเป็นเงินหมุนชำระหนี้ แต่หมุนเงินกันไม่ทันเพราะมูลหนี้สูง ทำให้อัตราชำระหนี้ต่อเดือนสูงตามไปด้วย สถาบันการเงินจึงไม่ปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่มาให้ เพราะยังมีหนี้ก้อนเก่าตั้งแต่ตอนที่เป็นวิสาหกิจฯ ค้างอยู่
นายสมาน กล่าวต่อว่า หลังจากได้รับการช่วยเหลือเรื่องรถบรรทุกขนส่งนมในปลายปี 2564 พอเข้าสู่ปี 2565 สถานการณ์ของกลุ่มฯ ก็เริ่มประคองตัวได้ แต่มาประสบปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ราคาหัวอาหารพุ่งสูง ได้รับผลกระทบอย่างมาก จนมาถึงตอนนี้ราคาก็ยังไม่ลดลงแม้ว่าราคาข้าวโพดกับมันสำปะหลังจะลดลงแล้วก็ตาม
จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง เข้าไปดู ไปถาม และเข้าถึงเกษตรกรจริงๆ จะได้รู้ว่า ตอนนี้เกษตรกรประสบปัญหาเดือดร้อนกันมากขนาดไหน อยากให้ช่วยขยับราคารับซื้อนมช่วยเกษตรกร และขยับค่าส่วนต่างที่สูงขึ้นให้กับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ก็จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนมาหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
“อยากให้เหลียวแลเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบ้าง จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และลงมาดูจริงๆ ว่า ทำอย่างไรรากหญ้าจะได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ” นายสมาน กล่าว