xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มประมงตราดยื่นหนังสือ พปชร. จี้รัฐบาลยกเลิก MOU 2544 หวั่นกระทบทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - พรรคพลังประชารัฐ จัดประชุมชาวตราดแจงปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาด้านเกาะกูด หวั่นเสียดินแดนหากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ด้านกลุ่มประมงยื่นหนังสือเรียกร้องยกเลิก MOU 2544 หวั่นปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกระทบการทำมาหากิน

วันนี้ (21 ธ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พร้อมด้วย ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด ร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสนธิสัญญา MOU 2544 ระหว่างไทยและกัมพูชา ที่โรงแรมเอวาดา อ.เมืองตราด หลังได้รับการประสานจากประชาชนในพื้นที่ว่ามีความห่วงใยเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา MOU 2544

โดยมี นายกาหลง หาดอ้าน ประธานชมรมอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตราด นำประชาชนชาวตราด และกลุ่มผู้ทำงานประมงเข้าร่วมในกิจกรรมกว่า 300 คน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เกาะกูดและพื้นที่ทะเลเกาะกูด กำลังมีปัญหาจากรายละเอียดของ MOU 2544 ซี่งหากปล่อยไว้โดยไม่ออกมาทำความเข้าใจและคัดค้านแนวทางดำเนินงานของรัฐบาลแล้ว สุดท้ายอาจส่งผลกระทบต่ออาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยได้ และการเดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด ในวันนี้เพราะต้องการรับฟังปัญหาทุกด้านจากพี่น้องชาวตราด รวมทั้งกลุ่มผู้ทำการประมงและเกษตร 

ซึ่งตนในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันติดตามปัญหาเรื่อง MOU 2544 และยังมีการยื่นหนังสือคัดค้านการกระทำใดๆ ที่จะทำให้ประเทศและประชาชนไทยเสียประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว 


เช่นเดียวกับ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่มีเชื้อสายชาวตราด ซึ่งได้นำเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวข้องกับชาวตราด โดยเฉพาะการคืน จ.ตราด ให้ประเทศไทยในยุคฝรั่งเศสล่าอาณานิคม ซึ่งในหลวง ร.5 ได้นำ 3 จังหวัดในกัมพูชา คือ เสียมเรียบ ศรีโสภณ และพระตะบองแลกคืนเพื่อให้ได้ จ.ตราด กลับคืนมา

และได้มีการลากเส้นอาณาเขตทางทะเลหรือเส้นเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลที่ห่างจากกัมพูชากันคนละเส้น ซึ่งกัมพูชาได้ลากเส้นเศรษฐกิจเข้าเกาะกูดของไทยโดยไม่ยึดกฎหมายสากล โดยที่ทั้ง 2 ประเทศไม่ได้มีการเจรจากันอย่างจริงจังและยังไม่สามารถตกลงกันได้ จนเป็นที่มาของการทำ MOU 2544 ขึ้น

“แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ขยับและกลับจะทำข้อตกลงเพื่อร่วมแบ่งปันพื้นที่ทางทะเลที่ไม่ได้เป็นของกัมพูชา ซึ่งในเรื่องนี้เราไม่สามารถนำทรัพยากรทางทะเลของไทยไปแบ่งครึ่งให้กัมพูชาได้ และนี่คือสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐ มีข้อห่วงใยจนต้องออกมาขับเคลื่อนเพื่อให้รัฐบาลเกิดความตระหนัก และไม่นำดินแดนของไทยไปให้กัมพูชา” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังเผยอีกว่า หากรัฐบาลยังไม่แสดงความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบทั้งการเมืองและภาคประชาชนอย่างแน่นอน และสิ่งที่อันตรายมากที่สุดคือพื้นที่แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไป เนื่องจากการวัดอาณาเขตจะต้องยึดแนวสันเขื่อนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างไว้นานแล้ว


ทั้งนี้ หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ จะกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามรอยเขาพระวิหาร ที่ไทยต้องเสียให้กัมพูชา

“ในพระราชวงศ์จักรี มีพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 ที่มีเชื้อสายตราด 2 พระองค์ คือ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช และกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลเกษมศรี เพราะมีพระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาจันทร์ ธิดาเจ้าเมืองตราด ที่มีบ้านเกิดอยู่ที่หนองคันทรง ใน อ.เมืองตราด จึงทำให้ตัวเองมีความผูกพันกับชาวตราดโดยสายเลือด และยืนยันว่าจะไม่ยอมให้เกิดกรณีใดๆ ที่จะทำให้เกาะกูดเป็นของกัมพูชาโดยเด็ดขาด” ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายกาหลง หาดอ้าน ประธานกลุ่มประมงชุมชนชายฝั่งอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลตำบลหาดเล็ก ได้แสดงความห่วงใยในเรื่อง MOU 2544 ที่ปรากฏเส้นเขตแดนทางทะเลกัมพูชาที่รุกล้ำทะเล จ.ตราด เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่ออาชีพการทำประมงของประชาชนในพื้นที่ และอาจทำให้ไทยเสียเขตแดนทางทะเลให้กัมพูชา

และกลุ่มของตนเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อแสดงความเป็นห่วงและต้องการทวงถามรัฐบาลในเรื่องที่ต้องการแบ่งผลประโยชน์เกี่ยวกับก๊าซและน้ำมันในทะเลตราดให้แก่กัมพูชา






กำลังโหลดความคิดเห็น