ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา จับมือหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานประกอบการใน EEC จัดงานวันการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษา หรือ CWIE DAY 2024 เดินหน้าผลิตบัณฑิตจบใหม่ตรงตามความต้องการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
วันนี้ (21 ธ.ค.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จับมือร่วมกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชนในเขต EEC จัดงาน "วันการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน คณะวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2" “CWIE DAY 2024” ณ ห้องประชุม CL 101 อาคารปฏิบัติการพื้นฐานและศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี
โดยมีจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามแนวทางสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) ภายใต้หลักการ Manpower Demand Driven Education Platform for Employability and Career Development Through Cooperative and Work Integrated Education (CWIE) : University - Workplace Engagement ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
และยังเป็นการเร่งตอบสนองความต้องการของประเทศในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และยังเป็นการรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อุษาวดี ตันติวรานุรักษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ กับนิสิตและคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมงาน
นอกจากนั้น ยังมี ดร.สัมพันธ ศิลปนาฎ นายกสมาคมสหกิจไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ปรับตัว เปิดใจ ก้าวเดินไปกับ CWIE สร้างเส้นทางที่ดีสู่โลกการทำงาน” โดยกล่าวว่าประเทศได้จัดให้มีการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษามาเป็นเวลานานถึง 25 ปีแล้ว และประสบผลสำเร็จจนได้รับการยอมรับระดับโลก
แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจที่เกิดขึ้นในปัจจจุบันจากการเข้ามาของเทคโนโลยี และ AI รวมทั้งการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม และระบบ EV ที่ทำให้รถใช้น้ำมันในปัจจุบันเริ่มได้รับผลกระทบ ผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจจึงต้องปรับรูปแบบการทำงานภายใต้ความพึ่งพามหาวิทยาลัย เพื่อให้ปรับรูปแบบการเรียนการสอน และปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้สามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการ
“วันนี้เราจำเป็นต้องปฏิรูปทุกอนุตามความเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนให้นักศึกษาได้มีความเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนคุณภาพนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตนเองและสถานประกอบการ เพราะสิ่งที่ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคือ ความไม่พร้อมของบัณฑิตจบใหม่ในการทำงานจากปัจจัยรอบด้านได้”
นายกสมาคมสหกิจไทยยังบอกอีกว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับบริบทใหม่ด้วยการให้นิสิตได้เห็นการทำงานในรูปแบบบริษัทตั้งแต่ ปี 1 เพื่อให้ได้รู้จักการทำงานในองค์กร และได้เรียนรู้ความต้องการของตนเองได้เร็วขึ้น และการศึกษาในอดีตที่เน้นการเรียนด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวต้องเปลี่ยนไป
เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ ดร.อุษาวดี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่าปัจจุบันคณะวิทย์มีความสัมพันธ์กับสถานประกอบการและบริษัทต่างๆ ในภาคตะวันออก ด้วยการผลักดันให้นิสิตสามารถเข้าทำงานกับสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ทัน หลังได้มีการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกและเขต EEC
“วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้นิสิตได้เห็นว่า สหกิจศึกษามีความสำคัญ ซึ่งทางคณะได้จัดกิจกรรมตลอดทั้งปี รวมทั้งลงรายละเอียดในรายวิชาเพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ จนสามารถป้อนบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการแล้วถึง 80% ไม่นับรวมบัณฑิตที่กลับไปทำธุรกิจให้ที่บ้าน” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา กล่าว