สุโขทัย - แชร์กันสนั่น ทึ่งกันเต็มโซเชียลฯ..หนุ่มน้อยหอบ “ซอไม้ไผ่” สุดยอดนวัตกรรมเครื่องดนตรีผสานหลักการจะเข้ญี่ปุ่นกับซอไทย เป็นหนึ่งเดียวในโลก โชว์สกิลสมัครเรียนต่อวิทยาลัยนาฏศิลปฯ
หลังจากเพจเฟซบุ๊กของวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยได้มีการเผยแพร่คลิปพร้อมข้อความระบุ “ซอไม้ไผ่ สุดยอดนวัตกรรมทางดนตรีกับวัยรุ่นยุคใหม่ เท่อย่างไทย เตรียมพร้อมสู่ระดับสากล” โดยในคลิปวิดีโอเป็นภาพนักเรียนชายกำลังโชว์การเล่น “ซอไม้ไผ่” หนึ่งเดียวในโลก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ดูน่าพิศวง ลักษณะคล้ายซอผสมจะเข้ ทำด้วยไม้ไผ่ จนสร้างความฮือฮาอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล และมียอดวิวเกือบ 1 ล้าน คนแชร์ต่ออีกนับพัน
ล่าสุด นางเหมือนขวัญ สุวรรณศิลป์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย เปิดเผยที่มาของคลิปดังกล่าวว่า วันนั้นเป็นวันที่วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยได้มีการคัดเลือกนักเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อในปี 2568 ซึ่งเป็นการคัดเลือกรอบโควตา แล้วเด็กชายณัฐพล (คนในคลิป) ก็ได้นำเครื่องดนตรีซอไม้ไผ่มาทดสอบโชว์ความสามารถพิเศษ
เมื่อได้ฟังการบรรเลงที่แปลกใหม่ เสียงซอดังกังวานไพเราะ ต่างก็รู้สึกประทับใจ และถ้าเด็กมาศึกษาต่อที่นี่ ก็จะได้เรียนรู้ต่อยอดเทคนิคการบรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นนี้เพิ่มขึ้นด้วยแน่นอน
ทั้งนี้ หลังมีการโพสต์คลิปลงโซเชียลปรากฏว่ามีผู้คนจำนวนมากต่างก็แสดงความชื่นชมในความสามารถของคนเล่น และประทับใจความน่าพิศวงของ “ซอไม้ไผ่” หนึ่งเดียวในโลก ที่คิดค้นประดิษฐ์โดยฝีมือคนไทย นั่นก็คือ คุณลุงทวี จันทร์แจ้ง ชาวจังหวัดพิจิตร
ทั้งนี้ “ซอไม้ไผ่” ที่ใช้คนบรรเลงเพียงคนเดียว ได้สร้างเสียงดนตรีไพเราะมีจังหวะจะโคนครบถ้วนเหมือนเล่นชุดใหญ่ ฝีมือลุงทวี จันทร์แจ้ง พื้นเพชาว จ.พิจิตร ที่ยึดอาชีพวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัด และเล่นจะเข้ตามวงดนตรี กระทั่งประยุกต์สร้างเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง คือ ซอไม้ไผ่ ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และยึดเป็นอาชีพมานาน สร้างรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาท
ลุงทวี จันทร์แจ้ง บอกว่า เดิมก็ออกรับงานวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ถ้าไม่มีงานก็ไปเล่นดนตรีกับวงปี่พาทย์ตามงานบุญ เน้นเล่นจะเข้ญี่ปุ่นเป็นหลัก ต่อมาจะเข้ญี่ปุ่นเสื่อมโทรมไปตามอายุ ต้องซ่อมบ่อย แต่หาช่างซ่อมก็ยาก จึงคิดทำเครื่องดนตรีเป็นของตัวเองตามภูมิปัญญาของคนเรียนจบเพียงชั้น ป.7 โดยใช้หลักการของจะเข้ญี่ปุ่น และซอ มาประยุกต์ ลองผิดลองถูก กระทั่งสร้างเป็นซอไม้ไผ่ซึ่งต้องใช้ไม้ไผ่หลากหลายชนิด ทั้งไผ่น้ำเต้า ไผ่ตรง ไผ่สีทอง ส่วนสายจะใช้เป็นสายกีตาร์แทนสายเอ็น เพราะคงทน และเสียงใสมากกว่า เพิ่มลิ่มนิ้วขึ้นมาเป็นตัวบังคับคอร์ด
“ถ้าเทียบกันลิ่มนิ้วก็เหมือนกับแป้นคีย์บอร์ดของเปียโน หรืออิเล็กโทนในเครื่องดนตรีสมัยนี้ หัวใจหลักอีกอย่าง คือ ไม้คันสี ซึ่งตัวไม้ทำด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกัน ใช้คู่กับเอ็นไนลอน ทำให้เสียงไพเราะ”