ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมไก่ เผย 2567 ปีทองส่งออกเนื้อไก่ไทย ยอดขายรวมพุ่งกว่าแสนล้านบาทจากความต้องการลูกค้าทั่วโลก ชี้ระบบการผลิตดีจนเป็นที่ยอมรับดันอัตราเติบโตสูงกว่า 30% สูงสุดในรอบหลายปี คาดปี 68 โตได้อีก จี้ผู้ประกอบการรักษามาตรฐานฟูดเซฟตี้
วันนี้ (17 ธ.ค.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของไทย ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกเนื้อไก่ไทยในปี 2567 ว่าเติบโตกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อน
ถือเป็นปีทองของการส่งออก จากปัจจัยเรื่องภาวะสงครามในหลายประเทศ ที่ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อไก่จากไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ประกอบการของไทยมีการพัฒนาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทั้งตามหลักฮาลาล และตามหลักสากล จนสามารถสร้างความมั่นในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร หรือฟูดเซฟตี้ให้คู่ค้าทั้งในตลาดยุโรป จีน มาเลเซีย และเกาหลี ซึ่งเป็นตลาดใหญ่
โดยยอดการสั่งซื้อเนื้อไก่ของไทยในปี 2567 มีมากกว่าแสนล้านบาท และยังทำให้หลายโรงงานที่ผลิตเนื้อไก่เพื่อการส่งออกมียอดคำสั่งซื้อยาวไปจนถึงกลางปีหน้า
ดร.ฉวีวรรณ ยังบอกอีกว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปจนทำให้ในช่วงที่ผ่านมาสร้างความเสียหายต่อผู้ส่งออกโดยรวมหลายร้อยล้านบาท แต่ภายหลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกให้กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ดูเหมือนว่าความมั่นใจในการสั่งซื้อเนื้อไก่จากไทยมีมากตามไปด้วย จนทำให้ปัญหาเรื่องค่าเงินเบาบางลง
“แต่สิ่งที่อยากบอกผู้ประกอบการของไทยคือ เรื่องมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของฮาลาล ที่ผู้ผลิตเนื้อไก่จะต้องทำให้ดียิ่งขึ้น เพราะชาวมุสลิม มีเครือข่ายประชากรอยู่ทั่วโลก ดังนั้นหากไทยสามารถสร้างความมั่นใจในเรื่องดังกล่าวได้ รับรองว่าการส่งออกเนื้อไก่ไปต่างประเทศจะโชติช่วงอย่างแน่นอน”
ส่วนเรื่องการหาตลาดใหม่ผู้ประกอบการไม่เคยหยุดนิ่ง และยังพยายามที่จะขยายการส่งออกให้เพิ่มแต่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผู้ประกอบการพร้อมที่จะเปิดทุกตลาดที่เชื่อมั่นว่าเมื่อส่งออกไปแล้วจะไม่ขาดทุน โดยตลาดตะวันออกลางที่มีแนวโน้มดีขึ้น
ดร.ฉวีวรรณ ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมว่ายังมีความโชคดีที่แม้ว่าหลายประเทศจะมีสงคราม แต่ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ที่ในวันนี้ไม่เพียงแต่เข้ามาท่องเที่ยว แต่ยังมีการขยายการลงทุนเข้ามาในไทย ซึ่งแม้อาจจะกระทบต่อภาคการผลิตของไทยในเรื่องของการแข่งขันด้านราคา
เพราะการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนมีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องเงิน และการนำแรงงานเข้ามาเอง แต่ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถต่อสู้ได้แบบใครดีใครอยู่
“เราไม่สามารถกีดกันไม่ให้เขาเข้ามาทำธุรกิจในบ้านเราได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ต่างชาติเขามาลงทุน แต่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมให้นักลงทุนไทยมีขีดความสามารถในการธุรกิจทางธุรกิจด้วย”
ชี้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% ต้องดูความพร้อมของประชาชน
ดร.ฉวีวรรณ ให้ความเห็นเรื่องแนวทางการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 15% ของรัฐบาลว่า น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการหารายได้ของรัฐเพราะที่ผ่านมารัฐบาลแจกเงินให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก และยังมีมาตรการที่จะแจกเงินให้ประชาชนในอีกหลายกลุ่ม แต่ในภาวะที่ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ รัฐบาลควรที่จะค่อยๆ ดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไปก่อน
“เพราะหากรีบร้อนจนเกินไปจะทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่ารัฐพยายามหาเงินเพื่อให้สมดุลกับรายจ่าย เช่นเดียวกับเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ซึ่งหากผู้ประกอบการรับได้ไม่มีปัญหา แต่หากในบางจุดที่ยังไม่สามารถจ่ายได้และยังเป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ และรัฐไม่มีนโยบายช่วยเหลือ เรื่องการปล่อยกู้จากแบงก์รัฐ ซ้ำยังกำหนดมาตรการต่างๆ มาควบคุมผู้ประกอบการจนทำให้มีรายจ่ายเพิ่มถือว่ายิ่งซ้ำเติมให้อยู่ลำบาก”
ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้าว่า รัฐควรหันกลับมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพทั้งภาคการเกษตรและการส่งออก เพื่อให้ได้คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น จึงจะเป็นผลดีทั้งต่อการปรับค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในอนาคต