xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผนสกัดน้ำท่วม-โคลนถล่มแม่สายซ้ำ คนชายแดนผวาโดนย้ายเกือบพันหลังคา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - วันนี้แม่สายโคลนยังค้างท่อ-ฝนตกเล็กน้อยก็เอ่อแล้ว..ม.แม่ฟ้าหลวงระดมนักวิชาการ หน่วยงานรัฐ เอกชน อปท.ร่วมเวทีผ่าแผนสกัด “แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก” โดนน้ำท่วมใหญ่ โคลนถล่มซ้ำอีก เผยต้องขุดลอก-สร้างพนังให้เสร็จก่อนฝนหน้า ติดตั้งระบบเตือนภัยใน 1 ปี ส่วนแนวทางเวนคืนที่-รื้ออาคารริมฝั่งทำชาวบ้านเกือบพันหลังคากังวลหนัก


กรณีเกิดน้ำท่วมใหญ่พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย และฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. 2567 สร้างความเสียหายอย่างหนักเป็นประวัติการณ์นั้น ล่าสุดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้ร่วมกับเทศบาล ต.แม่สาย ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ กลุ่มท้องถิ่นศึกษา และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จัดเวทีเสวนา (BM24-010) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการภัยพิบัติ" ขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาล ต.แม่สาย

ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิร่วมถกประเด็นแก้ปัญหาให้ถาวร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ฯลฯ เช่น นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย ดร.ธนิกุล จันทรา คณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. และณนภาจรี จิวะนันทประวัติ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายโครงการ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล.ฯลฯ

โอกาสนี้ได้มีการสะท้อนปัญหาว่าแม้จะมีการฟื้นฟูพื้นที่ แต่ยังคงมีดินโคลนติดอยู่ในท่อระบายน้ำต่างๆ ขณะที่ชาวบ้านเมื่อทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินริมฝั่ง บางจุดลึกเข้ามา 30-250 เมตร ก็มีความกังวลว่าจะสูญเสียที่อยู่อาศัย จึงขอให้เจ้าหน้าที่สอบถามชาวบ้านก่อนสรุป เพราะไม่อยากได้รับผลกระทบเพิ่มจากที่สูญเสียเพราะน้ำท่วม บางคนถึงขั้นเสนอให้เปลี่ยนจากเวนคืนที่ดินให้เป็นการจัดการพื้นที่โดยคำนึงถึงชีวิต ทรัพย์สิน อาชีพ หรือถ้าจะย้ายประชาชนออกไปอยู่ที่อื่นให้ชดใช้เต็มจำนวน ฯลฯ

นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 กล่าวว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย เกิดในช่วงที่มีความกดอากาศต่ำและมีพายุพัดผ่าน 2-3 ลูก ทำให้เกิดฝนตกแช่หลายวันในประเทศเมียนมาชั่วโมงละ 200 มิลลิเมตร

ประกอบกับพื้นที่ฝั่งตรงกันข้ามประเทศไทยมีแต่ภูเขาหัวโล้น ไม่มีป่าและอ่างกักเก็บน้ำ ทำให้มวลน้ำและตะกอนดินโคลนลงมาสู่ชายแดนทั้งหมด เมื่อมาถึงแม่น้ำสายที่ติดประเทศไทยระยะทาง 15 กิโลเมตร ซึ่งคับแคบและตื้นเขินรวมทั้งมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทำให้มีผลกระทบรุนแรง

ภาครัฐจึงได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการสำรวจ-ขุดลอกแม่น้ำสายเป็นะระยะเร่งด่วนก่อน โดยอยู่ภายใต้ความร่วมมือไทย-เมียนมา คือคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) ซึ่งฝ่ายทหารได้สำรวจพื้นที่และจะมีการประชุม JCR เพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ ดังนั้น ระยะแรกยังไม่ถึงขั้นที่จะรื้อถอนอาคารริมฝั่ง เป็นเพียงการขุดลอก ส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองก็มีการออกแบบเพื่อสร้างพนังริมฝั่งระยะทาง 3.96 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางไปดูพื้นที่ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้หน่วยงานต่างๆ ทบทวนร่วมกันเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิ 843 กว่าหลังคาเรือน ไม่ให้ได้รับผลกระทบ


ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าแผนงานที่นำเสนอจะดำเนินการได้ทันที แต่ก็ขอให้คำนึงว่าหากมีฝนตกหนักในฤดูกาลถัดไปอาจจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้ เพราะปัจจุบันลำน้ำมีแต่ตะกอนดินโคลน แม้แต่ท่อน้ำก็มีโคลนติดอยู่ สังเกตได้จากฝนล่าสุดที่ตกเพียงเล็กน้อยน้ำก็เอ่อล้นขึ้นมาแล้ว

“ระยะเร่งด่วนในเดือน มี.ค. 2568 จึงต้องขุดลอกเพื่อรองรับฝนหน้า ส่วนภายใน 1 ปีจะมีการติดตั้งระบบเตือนภัยและอื่นๆ ส่วนกรณีพนังกั้นทางนายกรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปคิดหาวิธีสร้างอย่างถาวร ไม่ใช่พนังชั่วคราวเพื่อไม่ให้กระทบด้านการใช้งบประมาณ แต่เงื่อนไขคือไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน”

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติรายงานว่า แผนที่นำเสนอรัฐบาลและ JCR คือ การขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ขุดลอกแม่น้ำสายเป็นระยะทาง 14.45 กิโลเมตร แบ่งเป็นโซน 1 ระยะทาง 12.39 กิโลเมตร และโซน 2 ระยะทาง 2.06 กิโลเมตร แนวการสร้างพนังมีระยะทาง 3.960 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำรวกมีการขุดลอก 30.89 กิโลเมตร ซึ่งสำรวจและออกแบบเสร็จแล้ว


หากได้รับการอนุมัติจาก JCR จะขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก สทนช.และกองทัพบกในเดือน ธ.ค. 2567-ม.ค. 2568 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2568 ด้วยงบประมาณราว 100 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้ง 843 หลัง เป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น โฉนด น.ส.3 น.ส.3 ก.จำนวน 178 หลัง อยู่ในที่ราชพัสดุ 162 หลัง อยู่ในที่สาธารณะและอื่นๆ กว่า 508 หลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น