เชียงราย - ภาคประชาชน 3 อำเภอชายโขงเชียงรายผวา..ชี้วันไหนเขื่อนลาวแจ้งเกิดห่างไม่ถึง 100 กม.ทำน้ำท่วมพื้นที่มิดเป็นวงกว้างไม่พอ ยังเกิดภาวะ “น้ำเท้อ” เสี่ยงทำน้ำกก-น้ำงาว-น้ำอิง ขึ้นสูง-ท่วมหนักสุดวิกฤตซ้ำ เรียกร้องแบงก์พิจารณาสินเชื่อ บอกยุติไม่ได้ ขอแจกแจงข้อมูลให้ชัด ชี้เขื่อนอีก 10 ปีค่อยสร้างก็ไม่สาย
ชาวบ้านซึ่งเป็นตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอริมแม่น้ำโขง คือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รวมตัวกันที่โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว สุดสัปดาห์นี้
เพื่อแสดงพลังต่อต้านโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งทาง สปป.ลาวมีแผนจะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไช สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยเข้าไปประมาณ 96 กิโลเมตร โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเอกชนที่จะก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่กันอยู่
อาจารย์นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ปลายปี 2567 นี้ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำโขงหลายจุด และแม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้ำมาก ทำให้เกิดภาวะน้ำเท้อบริเวณปากแม่น้ำอิง ลึกเข้ามาในเขตประเทศไทยกว่า 21 กิโลเมตร เช่นเดียวกับน้ำสาขาอื่นๆ อาทิ แม่น้ำกก ที่เกิดภาวะน้ำเท้อเพราะไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขงไม่ได้
ดังนั้น หากมีเขื่อนปากแบงจะส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นไปอีก ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้ยุติโครงการก่อสร้างมาตลอด และต้องให้คำตอบว่าเมื่อสร้างแล้วภาวะน้ำเท้อจะเป็นอย่างไรและถึงจุดไหน เกาะแก่งจะต้องหายไป ฯลฯ ทางภาคประชาชนจึงขอส่งเสียงไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคาร ซึ่งขณะนี้ทราบว่าสถาบันการเงินยังไม่ได้อนุมัติสินเชื่อกับโครงการก่อสร้าง
"สิ่งหนึ่งที่ประชาชนเป็นห่วงคือเรื่องน้ำเท้อ น้ำจะท่วมถึงพื้นที่ใดบ้าง จุดแรกคือแก่งผาได ซึ่งอยู่ที่ อ.เวียงแก่น ตรงนี้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวจัดกิจกรรมต่างๆ แก่งนี้จะจมหายไปเพราะน้ำท่วม 100% เราจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป หาดหลายแห่งจะจมหาย โดยเฉพาะหาดบ้านดอนมหาวัน อ.เชียงของ ซึ่งเป็นหาดพักผ่อนฤดูร้อนของคนเชียงของ หากสร้างเขื่อนปากแบงหาดบ้านดอนจะจมหายไปตลอด
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เกษตรริมโขงในฤดูแล้งจะได้รับผลกระทบทันที ลำน้ำสาขา เช่น น้ำงาว น้ำอิง ถ้ามีอุทกภัยเกิดขึ้นยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ เพราะเขื่อนจากจีนปล่อยน้ำปริมาณมาก ทำให้มวลแม่น้ำโขงขึ้นสูง และแม่น้ำสาขาต่างๆ ไม่มีทางออก
นายอภิธาร ทิตตา นายกเทศมนตรี ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่า ตนไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่การพัฒนามีหลายรูปแบบโดยเฉพาะเทคโนโลยี เช่น ความต้องการไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน แต่สามารถใช้เทคโนโลยีที่สะอาดได้ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ทำให้เป็นห่วงว่าหากเขื่อนเกิดขึ้นจะทำให้ระดับน้ำสูงจนท่วมบ้านเรือน พืชผลการเกษตรโดยเฉพาะส้มโอ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของ อ.เวียงแก่น โดยชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล
นายไผท นำชัย ผู้ใหญ่บ้านยายเหนือ ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่า น้ำท่วมในปีนี้ทำให้ต้นส้มโอของชาวบ้านหลายรายตายลง บางคนเสียสวนส้มโอไปมากถึง 2-6 ไร่ ปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินเยียวยา หากมีเขื่อนปากแบงขึ้นมาอีกพื้นที่ที่เคยเป็นสวนคงจมเป็นทะเลสาบแน่นอน
นายสงบ อินเทพ ตัวแทนภาคประชาสังคมเวียงแก่น กล่าวว่า โครงการเขื่อนปากแบงเกิดจากการที่คนไทยต้องการซื้อพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อ้างว่าต้องการให้เป็นพลังงานไฟฟ้าสำรอง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึง 61%
นายประยุทธ โพธิ กำนัน ต.เวียง อ.เชียงของ กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวหาดบ้านดอนมหาวันทำให้ชาวบ้านมีรายได้นับแสนบาทต่อปี หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงย่อมได้รับผลกระทบและตนคงรู้สึกเสียใจมากหากเป็นเช่นนั้น
นายสุวิทย์ การะหัน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง อ.เชียงของ กล่าวว่าน้ำท่วมปีนี้ทำให้เกิดน้ำเท้อจากน้ำโขงเข้ามาในน้ำอิงจนทุ่งนาเสียหายกว่า 80% ดังนั้นหากมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีกความเสียหายจะมากกว่านี้แน่นอน
น.ส.ประกายรัตน์ ตันดี ผู้ใหญ่บ้านทุ่งงิ้ว อ.เชียงของ และรองประธานสภาแม่หญิง อ.เชียงของ กล่าวว่า พื้นที่มีทุ่งเลี้ยงสัตว์ประมาณ 500 ไร่ ที่ผ่านมามีการอนุรักษ์เอาไว้แต่หากมีเขื่อนคงเกิดน้ำเท้อเข้าท่วม ส่งผลกระทบต่ออาชีพการเก็บไกและอื่นๆ
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อบูรณาการน้ำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้ข้อมูลเรื่องการปล่อยน้ำจากจีน ขณะที่น้ำเท้อปีนี้เข้ามาในแม่น้ำอิงกว่า 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ดังนั้น หากมีเขื่อนปากแบงจะมีระดับกักเก็บ 340 ม.รทก.เมื่อห่างจากไทย 90 กว่ากิโลเมตรจะทำให้เกิดน้ำเท้อสูงกว่าหน้าเขื่อนเสียอีก
“ห่วงว่าหากข้อมูลระดับน้ำเท้อไม่ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน จะกระทบประชาชน 3 อำเภอตรงไหน สุดท้ายก็จะมาบอกว่าเป็นภัยธรรมชาติไม่ใช่เขื่อน จนขณะนี้ยังไม่มีการสำรวจชุมชนริมโขงอย่างจริงจัง หากเกิดปัญหาภาระจะตกแก่ประชาชน จึงขอให้ยุติก่อนและหากยกเลิกสัญญาไม่ได้ก็ขอให้ข้อมูลทั้งหมดอย่างชัดเจน ทั้งนี้ผมเห็นว่าโครงการปากแบงเราสามารถยืดออกไปได้อีก 10 ปีก็ไม่สาย”