สมุทรสงคราม - สมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว จ.สมุทรสงคราม ประสานสภาเกษตรกรฯ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เร่งช่วยชาวสวนมะพร้าว พร้อมจับมือ สวก. ใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีกำจัดหนอนหัวดำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว จ.สมุทรสงคราม สภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ร่วมกับ บริษัท ดีเอวิชชั่น จำกัด ได้ทดสอบประสิทธิภาพการฉีดพ่นสารเคมีด้วยโดรน เพื่อแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำและแมลงดำหนามในสวนมะพร้าว
เนื่องจากปัจจุบัน จ.สมุทรสงคราม มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 67,593 ไร่ เกษตรกรกำลังประสพปัญหาศัตรูพืชระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พบมากที่สุด คือหนอนหัวดำในพื้นที่ 11 ตำบล เช่น ต.ท่าคา ต.สวนหลวง อ.อัมพวา ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที ต.นางตะเคียน ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง ฯลฯ รวม 602 ไร่ รองลงมาคือแมลงดำหนาม และด้วง
โดยที่สวนลุงเปี๊ยก สุดยอดมะพร้าวอ่อน ของนายรังสรรค์ บุญเสี่ยง ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม หมู่ 14 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา นายชัยยันต์ เจียมศิริ รองประธานสมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว นายสมฤทธิ์ วงศ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม และผู้แทนจากสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้ร่วมกันทดสอบประสิทธิภาพของโดรนด้วยการจำลองฉีดสารเรืองแสงแทนสารเคมีในการกำจัดหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม เพื่อสังเกตการกระจายตัวของสารเรืองแสงที่เกาะอยู่บริเวณผิวใบและใต้ผิวใบมะพร้าว
โดยใช้โดรนขนาด 4 ใบพัด กว้าง 2.50 เมตรฉีดพ่นน้ำผสมเม็ดสีเรืองแสงเพื่อทดสอบการพ่นและการฟุ้งกระจายละอองว่าทั่วถึงหรือไม่ก่อนพ่นสารเคมีจริงครั้งต่อไป โดยโดรนที่นำมาทดลองสามารถบรรจุน้ำยาหรือสารเคมีได้ครั้งละ 45 ลิตร บินได้สูงสุดไม่เกิน 90 เมตรตามกฎหมายกำหนด และบินได้นาน 15 นาที ตัวเครื่องเป็นระบบแบตเตอรี่ความจุ 2,900 มิลลิแอมป์ ควบคุมด้วยระบบ AI เซ็นเซอร์ 360 องศา และเป็นระบบตั้งค่าอัจฉริยะคือให้ AI ทำงานแทน 99% อีก 1% ผู้ใช้งานจะเป็นผู้ควบคุม ในการทำงานโดรน AI สามารถกำหนดพิกัดแผนที่ประกอบการปฏิบัติงานได้ การทดสอบใช้ไฟฉาย Black light ส่องอนุภาคเม็ดสีสะท้อนแสงที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นชัดเจนในที่มืด พบว่าการฉีดพ่นเป็นไปอย่างทั่วถึงและน่าพอใจ
นายชัยยันต์ เจียมศิริ รองประธานสมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว จ.สมุทรสงครามกล่าวว่า โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้ให้บริการโดรนกำจัดแมลงศัตรูพืชสวน (Service Provider ) ใน จ.สมุทรสงคราม วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบนวัตกรรมการประยุกต์ใช้โดรนพ่นสารเคมีที่เหมาะสมในการกำจัดแมลงศัตรูพืชสวนหรือหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อดีของการใช้นวัตกรรมโดรนฉีดพ่นสารเคมี เกษตรกรไม่ต้องสัมผัสสารเคมีโดยตรง จึงลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนี้โดรนยังสามารถคำนวณปริมาณการใช้สารเคมีและคำนวนให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการใช้สารเคมีที่เกินความจำเป็นจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับการใช้โดรนด้านการเกษตรจะช่วยประหยัดแรงงานและรวดเร็ว โดยการใช้โดรนพ่นสารชีวภัณฑ์หรือสารอินทรีย์ให้ทันช่วงเวลาขณะที่ปากใบพืชเปิดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมยิ่งขึ้น อีกทั้งโดรนยังทำงานได้เร็วกว่าเครื่องพ่นแรงดันสูงแบบสะพายหลัง 6-10 เท่า และยังเหมาะสมกับการฉีดพ่นใต้ใบ โดยเฉพาะพ่นสารเคมีใต้ใบมะพร้าวอีกทั้งยังจดจำตำแหน่งที่ฉีดพ่นครั้งก่อนได้ด้วย การใช้โดรนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถกำจัดหนอนหัวดำได้อย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาหนอนหัวดำถือเป็นสถานการณ์วิกฤติของมะพร้าวที่ควรมีมาตรการตัดวงจรชีวิตอย่างเร่งด่วน ขณะนี้แม้จะมีการใช้สารอีมาเมคตินเบนโซเอตด้วยวิธีฉีดสารเข้าลำต้นซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดหนอนหัวดำได้นานกว่า 3 เดือนและยังตัดวงจรชีวิตของหนอนหัวดำทำให้การระบาดลดลงระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวยังต้องแสวงหาวิธีอื่นในการต่อสู้กับปัญหาของหนอนหัวดำต่อไป ส่วนต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลายใบจะแห้งและมีสีน้ำตาล ให้ผลผลิตลดลง หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้ หนอนหัวดำสามารถแพร่กระจายตัวโดยติดไปกับต้นกล้ามะพร้าว หรือปาล์มประดับ ผลมะพร้าว หรือส่วนใบมะพร้าวที่ถูกนำจากแหล่งที่มีการระบาดเข้าไปในพื้นที่ใหม่
ดังนั้นการยับยั้งการเจริญเติบโตของหนอนหัวดำด้วยวิธีการใหม่นี้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาต้นมะพร้าวให้ยังคงรักษาชีวิตและสร้างผลผลิตให้กับชาวสวนต่อไปได้ สำหรับการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำใน จ.สมุทรสงครามได้ขยายเป็นวงกว้างจึงถูกมองเป็นแมลงศัตรูพืชประจำถิ่นไปแล้ว โดยหนอนหัวดำจะอาศัยฝังตัวตามกองเปลือกมะพร้าว และมักจะระบาดในช่วงหน้าแล้ง โดยกัดกินใบอ่อนจนทำให้ต้นโทรมและตายในที่สุด
เบื้องต้นคาดว่าเร็วๆนี้ จะมีโดรนจำนวน 2 เครื่องมาทดลองฉีดพ่นสารเคมีจริงในพื้นที่ จ.สมุทรสงครามอีกครั้งจำนวน 200 ไร่ ในเร็วๆนี้หากได้ผลก็จะมีการขับเคลื่อนโครงการไปถึงชาวสวนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นความหวังของชาวสวนในเรื่องการกำจัดศัตรูมะพร้าวที่เป็นปัญหามานานให้เบาบางลง จึงขอให้ติดตามเรื่องนี้ซึ่งทางสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม และสมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าว จ.สมุทรสงครามจะแจ้งข่าวดีให้เกษตรกรทราบต่อไป