xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) ชาวสะเอียบบวชป่า-เปิดเวทีรำลึก 35 ปีต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น จนสักทองสูงเสียดฟ้า!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - “ตะกอนยม” ยืนหยัดรับไม้ต่อ..ชาวสะเอียบเปิดดงสักงาม บวชป่า-เปิดเวที “รำลึก 35 ปีต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น” นักวิชาการยกย่องแนวทางชูสิทธิชุมชนยืนหยัดค้านโครงการใหญ่รัฐ รักษาผืนป่าสักทองสูงเสียดฟ้า 40,000 ไร่ เดินหน้าดัน “สะเอียบโมเดล” พัฒนาลุ่มน้ำยมยั่งยืน


ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่ร่วมกันต่อสู้กับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการขนาดใหญ่ของรัฐมายาวนาน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “รำลึก 35 ปีต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น” ขึ้นในหมู่บ้าน ระหว่าง 22-24 พ.ย.นี้ มีการรวมตัวกันซุ่มดูนก ศึกษาธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติแม่ยม ส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ นำเยาวชนเข้าชมพื้นที่จุดชมวิว-ดูพื้นที่ป่าดง/สัตว์น้ำ ซึ่งถ้าสร้างเขื่อนพื้นที่ป่า 160,000 ไร่จะจมอยู่ใต้น้ำไม่ต่ำกว่า 40,000 ไร่

โอกาสนี้ ชาวชุมชนสะเอียบยังจัดให้มีพิธีบวชป่าที่ "ดงสักงาม" บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมถ้ามีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของการพิทักษ์ป่าและการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่ยืนหยัดต่อสู้มายาวนานถึง 35 ปี

นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายก อบต.สะเอียบ ในฐานะประธานกรรมการต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า แม้ชาวบ้านต่อสู้มาอย่างยาวนาน แต่นักการเมืองก็ยังคิดสร้างเขื่อน ยังไม่ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอของชาวบ้าน โดยเฉพาะโครงการจัดการน้ำสะเอียบโมเดล

นายเส็ง ขวัญยืน อดีตกำนันตำบลสะเอียบ อดีตกำนันตำบลสะเอียบและแกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นกล่าวว่า พวกเราต่อสู้ยืนหยัดมาได้ถึง 35 ปีเพราะชาวสะเอียบมีจุดแข็ง นำวัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ พิทักษ์อากาศอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ และป่าไม้ โดยเฉพาะป่าสักทองจำนวน 40,000 ไร่ที่จะถูกน้ำท่วมถ้ามีเขื่อนแก่งเสือเต้น

นางอริสราพร สะเอียบคง แกนนำกลุ่มตะกอนยม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา เยาวชนชาวสะเอียบรวมตัวตั้งกลุ่มตะกอนยม ร่วมต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาอย่างต่อเนื่อง และรับไม้ต่อจากผู้หลักผู้ใหญ่จนถึงวันนี้ รวมทั้งยืนยันว่าจะต่อสู้คัดค้านต่อไปเพื่อรักษาผืนป่าสักทองที่มีค่าของพวกเราให้ลูกหลาน


นายชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผศ.ดร.ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า 35 ปีเป็นการต่อสู้ของชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในประเทศไทยมีไม่กี่ชุมชนที่สามารถปกป้องชุมชน ปกป้องผืนป่า และยืนหยัดได้นานถึง 35 ปี ด้วยการยืนยันในเรื่องของสิทธิชุมชน ยืนยันว่าผืนป่าที่จะต้องเสียไปกับการสร้างเขื่อนเป็นผืนป่าของคนในท้องถิ่นและเป็นผืนป่าของคนไทยทุกคน

ชาวสะเอียบมีการขอความร่วมมืออาสาสมัครนิสิตนักศึกษา ขอความร่วมมือนักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงเหตุผลเพื่อหยุดโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งอนาคตการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น คงเป็นไปได้ยาก จะมีเพียงคำพูดของนักการเมืองกลุ่มเดิมๆเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยหลายๆ ประการที่ทำให้ไม่สามารถสร้างเขื่อนได้ เช่น สภาวะโลกร้อน และการจัดการน้ำที่ดีกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

ทั้งนี้ การจัดงานรำลึก 35 ปี แห่งการต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ยังมีเวทีเสวนาให้ความรู้การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจนและเครือข่ายฐานทรัพยากรในภาคเหนือและภาคอีสาน เวทีพูดคุยทางวิชาการถึงทิศทางในอนาคตกับการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ รวมทั้งการต่อยอดโครงการสะเอียบโมเดล เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำยมที่ยั่งยืนต่อไปด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น