ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกพัทยาโชว์เจ๋ง! นำทีมเปิดตัวสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ค่าระดับเสียงชนิดเคลื่อนย้าย หรือ Trailer Mobile เฝ้าระวังสภาพปัญหามลพิษทางอากาศ และ PM2.5 พร้อมรายงานผลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ PRPATTAYA ทุกวัน หวังสร้างความตระหนักรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และนักท่องเที่ยว
วานนี้ (22 พ.ย.) นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายภูมิพิพัฒน์ กมลนาถ เลขานุการนายกเมืองพัทยา นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา รวมทั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกันเปิดตัวสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตรวจวัดค่าระดับเสียงชนิดเคลื่อนย้าย Trailer Mobile ริมชายหาดพัทยา เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเฝ้าระวังสภาพปัญหามลพิษทางอากาศให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับทราบ
โดยนายปรเมศวร์ เผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์มลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ และมีปริมาณสูงมากในอากาศจนดูคล้ายหมอกหรือควัน
และหากสัมผัส PM2.5 ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และอาจนำไปสู่การเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ปอด ผิวหนังได้
โดยที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้มีการจัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเมืองพัทยา แล้ว 1 สถานี ที่ถนนสุขุมวิท แยกพัทยากลาง แต่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่เนื่องจากเป็นสถานีแบบติดตั้งถาวร เมืองพัทยาจึงมีนโยบายในการเพิ่มสถานีตรวจวัดอากาศ ชนิดเคลื่อนย้าย หรือ Trailer Mobile อีก 1 สถานี เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
และจะเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ทุก 15 วัน และเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ และสามารถตรวจวัดระดับมลพิษทางอากาศและเสียง พร้อมแสดงผลการตรวจวัดได้แบบ Real Time Monitoring บนจอแสดงผล LED ประจำสถานีตรวจวัดอากาศชนิดเคลื่อนย้าย Trailer Mobile ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองพัทยา
นอกจากนั้น ยังจะได้รายงานผลการตรวจวัดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ PRPATTAYA เป็นประจำทุกวัน และเว็บไซต์เมืองพัทยา https://pattaya.go.th แบบ Real Time Monitoring เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามสภาพปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศและการแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้ต่อไป