เชียงใหม่-สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) พร้อมหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบกรณีมวลน้ำมหาศาลผุดจากใต้ดินท่วมพื้นที่เพาะปลูก ถนนและบ้านเรือนประชาชนกว่า 400 ไร่ นานกว่า 2 เดือนแล้ว ชี้สาเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศประกอบกับปีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดเหตุขึ้น เบื้องต้นเตรียมเร่งแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
วันนี้ (22 พ.ย. 67)ที่เทศบาลตำบลเมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ดร.พบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) เป็นประธานประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีเกิดน้ำจำนวนมหาศาลผุดจากดิน และเอ่อล้นท่วมถนน บ้านเรือน รวมถึงพื้นที่เกษตรของชาวบ้านเป็นเวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว จนกลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งทำให้ประชาชนหลายหมู่บ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากการที่พื้นที่การเกษตรที่ทั้งข้าวโพด,อะโวคาโด,ลำไยและมะม่วง ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายราว 400 ไร่ นอกจากนี้น้ำที่ผุดยังเอ่อเข้าท่วมถนนที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างบ้านหนองเขียว และบ้านหนองหมูฮ่อ มีความลึกประมาณ 8 เมตร ทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และต้องอ้อมไปใช้เส้นทางเส้นทางเลี่ยง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว
ทั้งนี้ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) เปิดเผยว่า สาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้เนื่องมาจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบหุบเขาหลุมยุบขนาดใหญ่ ขนาบด้วยเขาหินปูนทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออก และมีหลุมยุบอยู่หลายแห่ง ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของถ้ำหินปูนที่อยู่ใต้ดิน เกิดขึ้นมานานนับล้านปีแล้ว ซึ่งปีนี้มีปริมาณฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์กาลักน้ำของถ้ำ ทำให้น้ำที่ไหลลงไปใต้ดินล้นจนไหลย้อนขึ้นมาบนผิวดินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าระดับการไหลของน้ำบาดาลข้างล่างจะไหลไปเรื่อยๆ และน้ำที่ผุดขึ้นมาถึงจะลดลงไปตามระดับ
โดยจากการคำนวณปริมาณน้ำคร่าวๆ ที่ท่วมในทุกพื้นที่ในตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว มีมวลน้ำมากถึง 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูงถึง 10-20 เมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ อย่างไรก็ตามสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1 (ลำปาง) ได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ผุดขึ้นมาไปตรวจสอบแล้ว พบว่า น้ำมีค่า PH อยู่ที่ 5.4 - 6.0 มีคุณสมบัติเป็นกรดเล็กน้อย ส่วนปริมาณของสารละลายและความกระด้างที่อยู่ในน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่สามารถนำน้ำไปบริโภคได้ และเหมาะกับการใช้การอุปโภคมากกว่า
ส่วนการแก้ปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้วางแนวทางในการแก้ปัญหาเป็นระยะๆ คือ ระยะเร่งด่วน ขณะที่เกิดน้ำท่วมขังในตอนนี้ ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่ยังขาดแคลนน้ำใช้ จึงมีแนวคิดว่าจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการในพื้นที่ วางแผนสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่ตอนนี้ขึ้นไปเก็บในอ่างเก็บน้ำที่อยู่บนที่สูงและไม่มีน้ำอยู่ในตอนนี้ คือที่โครงการหลวงหนองเขียว มีความจุอยู่ที่ประมาณ 25,000 ลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่บ้านอาข่าและบ้านหนองวัวแดงอีก 2 แห่งที่มีความจุ 12,000 ลูกบาศก์เมตร รวมถึงสระลูก ที่ชาวบ้านได้จัดทำไว้ตามไร่นาอีกหลายแห่ง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากน้ำที่ผันขึ้นไปเก็บด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการสำรวจบริเวณที่มีน้ำผุดและสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ เพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกับน้ำผิวดิน ทั้งในสภาวะปกติและในภาวะที่เกิดปรากฏการณ์น้ำผุด รวมถึงศึกษาแนวทางการเก็บน้ำในถ้ำ ตามรูปแบบอ่างเก็บน้ำในถ้ำด้วย ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนการทำงานให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากทางรัฐบาล โดยหลังจากได้รับงบประมาณแล้วจะเร่งดำเนินการในระยะเร่งด่วนทันทีให้แล้วเสร็จภายใน 60 - 90 วัน