ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สมาคมไมซ์อีสาน จับมือทีเส็บ นำภาคีเครือข่ายจัดงาน Isan Silk & Craft Trade โอกาสใหม่ของธุรกิจผ้าไหมและหัตถพาณิชย์อีสาน” ดึงผู้ซื้อจากทั่วโลก ปั้นงานเทรดโชว์ไหม เสริมงานเทศกาลไหมและเมืองไหมขอนแก่น 28-30 พ.ย.นี้
วันนี้ (20 พ.ย.) ที่สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น (CEA Khon Kaen) จังหวัดขอนแก่น นายศิริวัฒน์ พินิจพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และนายอภิชาติ สินธุมา นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมไมซ์ภาคอีสาน ร่วมกันแถลงข่าว “Isan Silk & Craft Trade : โอกาสใหม่ของธุรกิจผ้าไหมและหัตถพาณิชย์อีสาน”
มีนายสักก์สีห์ พลสันติกุล. ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น พร้อมด้วยนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น นายธีรยุทธ์ ลีลาขจรกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
สมาคมการค้าอุตสาหกรรมไมซ์ภาคอีสาน ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน และภาคีเครือข่ายจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขอนแก่น (CEA ขอนแก่น) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นและภาคีเครือข่าว เตรียมจัดงาน ISAN Silk & Craft Trade (ISCT 2024) งานประชุมสัมมนา จับคู่ธุรกิจเพื่ออุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทออีสาน ภายใต้แนวคิด “เส้นทางไหมอีสานสู่เวทีการค้าโลก” ระหว่าง 28-30 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดขอนแก่น
นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่าการอบรมผู้ประกอบการเป็นส่วนหนึ่งที่ สสปน. ต้องการยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ นำเอาอุตสาหกรรมไมซ์มาพัฒนาศรษฐกิจเชิงบวก ความเข้มแข็งของพื้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งหรือว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่จะสร้างความสำเร็จ ในส่วนการอบรมจะมีหลายรูปแบบ รูปแบบที่ 1.เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเนื้อของอุตสาหกรรม ทีเส็บจะทำงานร่วมกับภาคีที่ดูแลในอุตสาหกรรมนั้น
“ในหน่วยของทีเส็บถ้ามีการอบรมจะให้การสนับสนุนให้ยกระดับในเชิงของความเข้าใจในการทำตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำตลาดไปสู่ระดับโลก ขณะเดียวกันจะมีการอบรมในกรอบของการที่จะให้ทุกๆหน่วยได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อร่วมผลักดันเมืองให้เป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งความต้องการของตลาดเปลี่ยนไปตาม generation ของผู้ผู้ซื้อและองค์ประกอบของผ้า หากสามารถกระจายให้ไปสู่ระบบของการใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายไปสู่การเป็นเครื่องนุ่งห่มเป็นประจำวันได้ จะเป็นการเปิดตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง”
เรื่องอุตสาหกรรมอีสาน ทีเส็บจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ผลักดันเอาผ้าพื้นถิ่นของตัวเองไปสู่ระดับโลกเป็นกลไกการตลาด เรียกว่าขยายโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผ้าในพื้นที่ ขณะเดียวจังหวัดขอนแก่นเองทีเส็บได้ยกระดับขอนแก่นให้เป็นไมซ์ซิตี้ จะต้องเป็นจุดหมายปลายทางดึงนักเดินทางต่างชาติ นักธุรกิจต่างชาติ มาจัดงานในขอนแก่นให้ได้
ทั้งนี้กิจกรรมพิเศษวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่จัดขึ้น ณ อาคารขอนแก่นอินโนเวชั้นเซ็นเตอร์นั้น จะมีผู้ซื้อจากทั่วโลกมาร่วมฟังการนำเสนอพร้อมจับคู่ธุรกิจ (Business pitching) กับผู้ประกอบการผ้าไหมและสิ่งทออีสาน จำนวน 15 ราย ที่ได้รับการคัดเลือกและจัดทำ e-catalogue เป็นกรณีพิเศษ จาก CEA ขอนแก่น และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น
คาดหมายมูลค่าการซื้อขายเบื้องต้นกว่า 150 ล้านบาท โดยภายในงานวันเดียวกัน ยังจัดให้มีการประชุมสัมมนาด้านการผลิตและทิศทางการพัฒนาไหมไทย และโอกาสผ้าไหมอีสานในตลาดรีเทลระดับโลก โดยผู้สนใจสามารถร่วมฟังสัมมนาโดยลงทะเบียนล่วงหน้า จำกัดจำนวนเพียง 50 ท่าน เท่านั้น
การจัดงาน ISAN Silk & Craft Trade โดยการสนับสนุนจาก สสปน แสดงถึงความพร้อมของขอนแก่นสู่ศูนย์กลางการผลิตผ้าไหมคุณภาพสูง ส่งเสริมการเติบโตของผ้าไหมและสิ่งทออีสานเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีมูลค่ากว่า 234,962 ล้านบาท และเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าที่มีมูลค่าส่งออกกว่า 5,200 ล้านบาทในเดือน สิงหาคม 2567 ตลอดจน ผลักดันให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้ส่งออกไหมรายใหญ่ของโลกที่มีการผลิตไหมกว่า 291 ตันในปี 2566
การจัดงาน ISAN Silk & Craft Trade ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ TCEB ที่ตั้งเป้าหมายพัฒนาขอนแก่นสู่การเป็น “Silk City” หรือเมืองแห่งผ้าไหมระดับโลกภายใน 5 ปี โดยพร้อมจะดึงงานประชุมนานาชาติด้านผ้ามัดหมี่มาจัดในขอนแก่น คู่ไปการจัดงานแสดงนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอ ที่สมาคมการค้าอุตสาหกรรมไมซ์ภาคอีสาน เตรียมจัดในปี 2568 ภายหลังจากที่ขอนแก่นได้รับการยกย่องให้เป็น “เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่”
การจัดงาน ISAN Silk & Craft Trade ในช่วงงานเทศกาลไหมนานาชาติจังหวัดขอนแก่น และพิธีรำบวงสรวง 10 ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น ทำให้ผู้ซื้อจากทั่วโลก ผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์และนวัตกร ทั้งในและต่างประเทศ สัมผัสถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานและร่วมประสบการณ์ในเชิงธุรกิจผ้าไหมและสิ่งทออีสาน ในห่วงโซ่อุปทานได้ในครั้งเดียวกันร่วมต้อนรับคณะผู้ซื้อจากทั่วโลกในงาน ISAN Silk & Craft Trade และเฉพาะผู้สนใจเข้าร่วมประชุมสัมมนาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ชั้น M อาคารขอนแก่นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ สามารถลงทะเบียนได้แล้ววันนี้