xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานวิทยาศาสตร์ มช.ขับเคลื่อน “นวัตกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร” เส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ เผยผลสำเร็จโครงการ “การควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่” โดยการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2564 พิสูจน์ชัดนวัตกรรมที่เกิดจากการเข้าใจความต้องการและบริบทของพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ STeP ระบุว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเกิดจากการเข้าใจความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง” คือหัวใจสำคัญที่ STeP นำมาขับเคลื่อนในการดำเนินโครงการ “การควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่” (Risk Control in Food Safety and Security Using Appropriate Innovative Technology for New Normal Project) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2564 จนประสบผลสำเร็จด้วยดี

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการนั้น STeP ที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนโครงการสู่ความสำเร็จ ได้มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย โดย STeP ได้เข้าไปมีส่วนช่วยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Dissemination) ที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อย่าง Souphanouvong University และ Nong Lam University เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์และพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน


โดยที่ "ชุมชนบ้านผาโอ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว" นั้น ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Drying) ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับพื้นที่ รวมถึงผ่านความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทย จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก Souphanouvong University ณ ปัจจุบันมีเครื่องอบแห้งติดตั้งแล้ว 2 เครื่อง ทั้งในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของมหาวิทยาลัยและในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย เพื่อช่วยยกระดับการแปรรูปหน่อไม้และเห็ดให้มีคุณภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งนวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ยังสร้างโอกาสในการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอื่นๆ ผ่านศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ด้าน "เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม" กับกิจกรรมสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดและการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (Market & Partnership Exploration and Technology Dissemination) เพื่อยกกระดับศักยภาพผู้ประกอบการด้านการผลิตและการแข่งขันการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดเวียดนาม วิเคราะห์แนวโน้มตลาดเชิงลึก และปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจอย่างเข้มแข็ง


ขณะที่ "จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย" นั้น STeP ได้เข้าไปมีส่วนในการถ่ายทอดนวัตกรรมการหมักดองอาหารแบบ Zero Waste ร่วมกับผู้ผลิตอาหาร บริษัท ดอกบัวฟู๊ดส์ จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการหมักดอง โดยลดปริมาณ และการสูญเสียน้ำดอง เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต แต่ยังสร้างมาตรฐานใหม่ให้อุตสาหกรรมอาหารดองของไทย ที่สำคัญแนวคิดการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ยังได้กลายเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ ตลอดการดำเนินโครงการ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นถูกพัฒนาด้วยความเข้าใจในบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง ย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ จากจุดเริ่มต้นที่ชุมชนเล็กๆ ในหลวงพระบาง สู่การขยายผลในเมืองโฮจิมินห์ และการกลับคืนถิ่นสู่จังหวัดเชียงใหม่ ในการนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ผสานรวมเข้ากับประสบการณ์อันหลากหลายจากต่างแดน เพื่อกลับมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารในทุกมิติ ตลอดจนการสร้างรากฐานองค์ความรู้ที่แข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมอาหารของไทย พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น