ฉะเชิงเทรา- มรภ.ราชนครินทร์ ผุดหลักสูตรช่วยคลายความเหงาคนวัยเกษียณ จัดอบรมสร้างการเรียนรู้ดึงศักยภาพคนวัยเก๋าสู่การผลิตชิ้นงานมีคุณค่า สร้างรายได้ หลัง จ.ฉะเชิงเทรา ติดอันดับแถวหน้าจำนวนคนชราเพิ่มสูงเป็นอันดับต้นของประเทศ โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งจังหวัด
รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เผยถึงจำนวนประชากรวัยเกษียณหรือจำนวนผู้สูงวัยใน จ.ฉะเชิงเทรา ว่าปัจจุบันมีมากถึง 145,793 คน จากจำนวนประชากรที่มีทั้งหมดเกือบ 700,000 คน หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในจังหวัด โดยยังถูกจัดอันดับ 3 ของภาคตะวันออก และอันดับที่ 9 ของประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้สูงอายุอีกด้วย
โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้ทำการสำรวจถึงความต้องการของประชากรในกลุ่มนี้ว่ามีอะไรบ้าง และจากแนวทางที่สำรวจพบได้นำมาสู่การกำหนดให้ 6 คณะทำการสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่กลุ่มผู้สูงวัย
ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของผู้สูงอายุ โดยได้นำงานวิจัยมาบูรณาการทางวิชาการและงานบริการเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สูงอายุ ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่า
ส่วนคณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ และคณะวิทยาการการจัดการสาขาการบัญชี รวมทั้งสาขานิเทศศาสตร์ เพื่อการสื่อสาร จะให้ความรู้กับผู้สูงอายุก่อนที่จะถึงวัยเกษียณได้มีการเตรียมตัวเพื่อพัฒนาอาชีพในด้านการเป็นผู้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางการท่องเที่ยวในจังหวัด ด้วยการนำประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ด้านคณะครุศาสตร์ จะช่วยเน้นหนักการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัยให้สามารถเข้ากับกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และนำหลักการใช้จิตวิทยา บูรณาการระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กให้ได้มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อทำให้เกิดความสุขทั้งสองฝ่าย
ขณะที่คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จะผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาใช้กับผู้สูงอายุได้ สำหรับใช้เป็นต้นทางที่จะพัฒนาไปสู่การจัดตั้งคณะใหม่คือ คณะพยาบาลศาสตร์ ที่จะรองรับทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและงานบริการในกลุ่มจังหวัดอีอีซี
“การดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่ได้ให้แนวทางการพัฒนาเพื่อนำไปการสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้กลุ่มผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมร่วมกันกับคนทุกช่วงวัย โดยจะมีสาธารณสุขจังหวัด และ พมจ. เป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาเมืองแห่งสมาร์ทซิตี้ในสังคมผู้สูงอายุได้อีกด้วย”
รศ.ดร.ดวงพร ยังเผยอีกว่าในการเติมเต็มชีวิตให้แก่ผู้สูงวัยยังจะมีกิจกรรมนันทนาการเพื่อช่วยคลายความเหงาคนวัยเกษียณ ให้สามารถนำกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาพัฒนาสู่การสร้างรายได้และสร้างอาชีพใหม่ๆ ใก้เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มคนสูงวัยที่จะมีความสุขสนุกกับการทำงาน
“กลุ่มผู้สูงวัยเป็นคนที่มีคุณค่า ประสบการณ์ของท่านมีคุณค่ามากเหลือล้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คุณค่าเหล่านี้ได้ถูกแสดงออกมาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง และสิ่งที่ถูกเล่าเรื่องถ่ายทอดออกมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ ด้วยความตั้งใจของ มรภ.ราชนครินทร์ ที่จะเป็นข้อต่อกลางให้คนทุกช่วงวัยสมานดวงใจของชาวฉะเชิงเทราให้มีชีวิตหลังวัยเกษียณที่ดีขึ้น” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว