เชียงใหม่ – นักท่องเที่ยวร่วมงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่คึกคัก ชมการประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา ที่หน่วยงานและชุมชนต่างๆ พร้อมใจกันจัดตกแต่งอย่างงดงามเข้าร่วมทั้งสิ้น 10 ขบวน เคลื่อนจากประตูท่าแพไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำปิงหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับตามความเชื่อดั้งเดิม
ช่วงค่ำวันนี้ (15 พ.ย. 67) ที่ลานประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่จัดประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป โดยเริ่มเดินขบวนตั้งแต่ลานประตูท่าแพ ผ่านถนนท่าแพ ไปยังถนนไปรษณีย์ ถนนวิชยานนท์ มุ่งหน้าสู่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ยืนริมสองฝั่งถนน เพื่อรอชมความงดงามของขบวนสะเปา
โดยการประกวดครั้งนี้มีหน่วยงานและชุมชนต่างๆ ประดิษฐ์ตกแต่งสะเปาส่งเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 10 ขบวน ซึ่งขบวนแรกเป็นขบวนของเทศบาลนครเชียงใหม่ ถัดมาเป็นขบวนของโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืนร่วมกับโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ, ชุมชนวัดศรีปิงเมือง, สมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา, สภาวัฒนธรรมอำเภอแม่ริม, โรงเรียนเทศบาลวัดเกตการาม, โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ, โรงเรียนวัด ชุมชน ป่าแพ่ง - วังสิงห์คำ และโรงเรียนเทศบาลวัดพวกช้าง, โรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย ร่วมกับ โรงเรียนเทศบาลวัดหมื่นเงินกอง และโรงเรียนเทศบาลดอกเงิน และปิดท้ายด้วยขบวนจากวัดอุปคุต ร่วมกับชุมชนวัดหัวฝาย และโรงเรียนเทศบาลวัดศรีดอนไชย
สำหรับ“สะเปา” นั้น หมายถึงเรือสำเภาในภาษาพื้นเมืองล้านนา เชื่อกันว่าการล่องสะเปาคือการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยการประดิษฐ์สะเปาของชาวล้านนา จะใช้กาบกล้วย มะละกอ ไม้ไผ่ หรือกระดาษแก้วใสมาตกแต่งและประดับประดาด้วยดอกไม้ หรือใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายต่างๆ ติดด้านข้างลำสะเปา นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่นๆ ที่มักใส่ลงไปในสะเปาด้วย อาทิ ข้าวสุก กล้วย อ้อยควั่น ข้าวต้มจิ้ม น้ำตาล เกลือ ยาสูบ หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน และอื่นๆ เพราะเชื่อกันว่าผู้ล่วงลับจะได้รับส่วนกุศลหรือทานที่ทำให้ในสะเปา เพื่อนำไปใช้ในอีกภพหนึ่ง