เชียงราย - รมช.เกษตรฯ จ่อลงพื้นที่ “เวียงหนองหล่ม” พรุ่งนี้..ด้านปศุสัตว์เชียงรายตั้งวอร์รูมเร่งค้นหาสาเหตุควายทยอยตายปริศนา แค่ 2 เดือนเศษกว่า 240 ตัวแล้ว แถมมีป่วยอีก
วันนี้ (13 พ.ย.) นายสัตวแพทย์ พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์ จ.เชียงราย ได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ "เวียงหนองหล่ม" ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำสาธารณะครอบคลุมเขตติดต่อ ต.จันจว้า ต.จันจว้าใต้ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และ โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
หลังเกิดเหตุควายที่เกษตรกรเลี้ยงเอาไว้ป่วยและตายไม่ทราบสาเหตุแล้วอย่างน้อย 245 ตัวในห้วงเวลาแค่ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน และทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง ได้ตรวจตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ไม่พบโรคระบาดที่ชัดเจน พบเพียงภาวะเลือดจาง ตับวาย พยาธิในกระเพาะอาหาร ฯลฯ จึงสันนิษฐานว่าเกิดจากการขาดแคลนอาหารและแมลงเพราะเกิดภาวะภัยแล้งต่อด้วยน้ำท่วม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้าฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามปางควายต่างๆ เจาะเลือดตัวอย่างควายไปตรวจ ฯลฯ ขณะที่นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีกำหนดเดินทางไปตรวจสถานการณ์ถึงพื้นที่เวียงหนองหล่มในช่วงเช้าวันที่ 14 พ.ย.นี้ด้วย
นายสัตวแพทย์ พืชผลกล่าวว่า เวียงหนองหล่มมีพื้นที่เลี้ยงควายประมาณ 3 ปาง เกษตรกร 51 ราย ควายเกือบ 2,000 ตัว เมื่อมีการขุดลอกพื้นที่จึงทำให้ควายไม่มีแหล่งอาหารและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปเพราะพื้นที่หญ้ากลายเป็นจุดที่ถูกขุดลอก
ซึ่งตั้งแต่ปี 2565 ปศุสัตว์ ชลประทาน เทศบาล ต.จันจว้า ฯลฯ จึงได้ดำเนินโครงการต่างๆ เข้าสนับสนุนหญ้าแห้งเป็นอาหารสัตว์ ฉีดวัคซีน ฯลฯ แต่ปี 2567 เกิดน้ำท่วมอีกทำให้ยิ่งเกิดภาวะขาดแคลนอาหารสัตว์มากขึ้น และมีควายตายต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเข้าเก็บตัวอย่างและเจาะเลือดควายไปตรวจเพิ่มเติมอีกรอบ หลังจากตรวจรอบแรกแล้วไม่พบว่าเป็นโรคระบาดโดยพบเพียงพยาธิในทางเดินอาหาร เพื่อรักษาสัตว์ การถ่ายพยาธิและให้ยาบำรุงต่างๆ รวมทั้งติดตามฝูงควายทั้งหมดต่อไป
นายสัตวแพทย์ พืชผลกล่าวยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่ได้นิ่งนอนใจ เข้าไปติดตามช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารปี 2565-2567 แต่ปีนี้ปัญหารุนแรงขึ้น ทุกฝ่ายก็กำลังร่วมมือกันเข้าไปแก้ไขปัญหา
สำหรับควายที่ป่วยแต่ละตัวก็จะเข้าไปรักษาเป็นตัวๆ ไป โดยทางอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ส่งหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ไปยังเวียงหนองหล่มเพื่อทำการรักษาทุกตัว และจะปักหลักอยู่ที่เวียงหนองหล่มเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ
“ตามหลักวิชาการมีความจำเป็นต้องกักสัตว์แต่สภาพพื้นที่กว้างจึงควบคุมไม่ให้คนเข้าออกเท่านั้น รวมทั้งมีการทำความสะอาดโดยด่านกักกันสัตว์เชียงรายจะเข้าพ่นยาทั่วพื้นที่ ซึ่งอาจจะนานเป็นเดือนควบคู่การให้อาหารสัตว์ด้วย”