xs
xsm
sm
md
lg

เหมือนเป็นหนองน้ำมรณะ! เกษตรกรเดือดร้อนหนัก ‘ควายเวียงหนองหล่ม’ ตายปริศนา 2 เดือนกว่า 240 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - เกษตรกรคนเลี้ยงควายรอบ “เวียงหนองหล่ม” หนองน้ำสาธารณะรอยต่อแม่จัน-เชียงแสนเดือดร้อนหนัก..หลังควายทยอยป่วย-ล้มตายปริศนาวันละ 3-5 ตัว แค่ 2 เดือนมีตายแล้วกว่า 240 ตัว บางรายแทบเกลี้ยงคอกเกลี้ยงปาง วอนปศุสัตว์เร่งหาต้นเหตุ-ช่วยเหลือ



รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงควายภายในพื้นที่ที่เรียกกันว่า "เวียงหนองหล่ม" ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำสาธารณะครอบคลุมเขตติดต่อ ต.จันจว้า ต.จันจว้าใต้ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และ โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กำลังประสบปัญหาควายที่เลี้ยงป่วยและตายลงอย่างไม่ทราบสาเหตุและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จนเดือดร้อนกันทั่ว

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย.นี้ แต่ละวันจะมีควายของชาวบ้านตายลงหลายตัว รวมตลอดระยะเวลา 2 เดือนมานี้มีควายล้มตายเป็นปริศนาไม่ต่ำกว่า 200 ตัวแล้ว ขณะที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย ได้เข้าเก็บตัวอย่างสัตว์เพื่อตรวจสอบแล้วแต่ปัญหายังไม่ยุติ และต้องเข้าเก็บตัวอย่างใหม่อีกครั้งในวันนี้ (13 พ.ย.)

นายสายฝน ชุ่มมงคล ประธานกลุ่มเลี้ยงควายเวียงหนองหล่ม กล่าวว่า หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน จ.เชียงราย รวมถึงที่เวียงหนองหล่ม 3 รอบช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ควายก็เริ่มป่วย อาการแรกคือตาเหม่อลอย เจ็บเท้า คอแข็ง ปากและเท้าเปื่อย ก่อนที่จะตายลงในที่สุด เกษตรกรได้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขให้ได้ ควายก็ตายลงเรื่อยๆ จนเกือบหมดคอก ดังนั้นจึงขอความช่วยเหลือทางปศุสัตว์และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด่วน

สำหรับสาเหตุนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าเกิดจากโรคระบาด รวมถึงการขุดลอกเวียงหนองหล่มตั้งแต่ปี 2564 จนทำลายแหล่งอาหารและที่เลี้ยง ทำให้ควายไม่แข็งแรงและเกิดโรคดังกล่าว คาดว่า 3-4 เดือนข้างหน้าคงไม่มีที่อยู่ที่กินอีกเลย ครั้นจะไปซื้อและขนฟางไปเลี้ยงก็ลงทุนสูงถึงวันละเกือบพันบาท


นายสายฝนกล่าวอีกว่า ในอดีตเวียงหนองหล่มมีควายที่เกษตรกรเลี้ยงรวมๆ กัน 4,000-5,000 ตัว เพราะสถานที่กว้างขวางปัจจุบันเหลือประมาณ 1,000 ตัว ส่วนที่ตายเกิดขึ้นใน 3 ปางมีควายตายรวมกันแล้ว 245 ตัว และยังทยอยตายลงเรื่อยๆ เฉลี่ยวันละ 3-5 ตัว บางช่วงก็หยุดลงเพราะควายตายไปเยอะแล้ว เหลือแต่ที่แข็งแรง

ตัวอย่างปางของตน เคยมีควายอยู่ 80-90 ตัว ก่อนทยอยตายจนตอนนี้เหลือเพียง 42 ตัวเท่านั้น เมื่อไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้ผลและขอค่าชดเชยก็ไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่ได้เกิดจากโรคระบาดขณะที่ภาษียังคงจ่ายเท่าเดิม ทำให้เกษตรกรต้องรักษาควายกันไปตามมีตามเกิดและรู้สึกท้อใจเพราะเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่ปู่ พ่อ และพี่ชายตนที่เลี้ยงมา 45 ปีก่อนสืบทอดมาถึงตน ซึ่งกำลังเจอกับปัญหาควายตายไม่รู้สาเหตุ รวมทั้งยังไม่มีที่เลี้ยงอีก อนาคตคงอยู่กันยากแล้ว


ด้าน น.ส.สุวิชชา ปัญจขันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างที่ปางควายของเกษตรกรส่งตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง พบควายมีภาวะเลือดจาง ตับวาย มีพยาธิในกระเพาะอาหาร ฯลฯ

เบื้งต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากปัญหาภัยแล้ง ต่อด้วยน้ำท่วมทำให้อาหารควายไม่เพียงพอ จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโต เกิดภาวะขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอลง ช่วงน้ำท่วมและฤดูฝนมีแมลง ทำให้ควายมีพยาธิในเลือด แต่สิ่งที่ทำให้ควายเสื่อมสภาพและทรุดโทรมคือการขาดสารอาหารเป็นหลัก กลายเป็นปัญหาสะสมและค่อยๆ ตายดังกล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ประชุมกัน เบื้องต้นมีข้อสรุปว่าจะหาผู้ประสานงานในแต่ละปางควายจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงควายแบบประณีต การหาแหล่งอาหาร อาทิ ฟาง  จัดโปรแกรมตรวจสุขภาพ โปรแกรมฉีดวัคซีน ฯลฯ นอกจากนี้มีข้อแนะนำให้แต่ละปางกักควายตัวเองเพราะที่ผ่านมามักมีการปล่อยควายลงไปในแหล่งน้ำรวมๆ กัน จากนั้นแนะนำให้ปลูกพืชอาหารสัตว์เสริมด้วยฟางแห้งเพื่อป้องกันความเสี่ยง

"โรคที่เราตรวจพบจากผลแล็บไม่ใช่โรคติดต่อตามพระราชบัญญัติติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่ในส่วนของโรคระบาดที่เกษตรกรสงสัยเดี๋ยวจะมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการอีกครั้ง" น.ส.สุวิชากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น