xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแผนค้นหาชายเข้าป่าเขาถ้ำมังกรเก็บเห็ดนาน 7 วันยังไม่พบตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน ยังคงทำการค้นหาชายวัย 59 ปี หายตัวไปขณะเข้าไปหาเห็ดที่เขาถ้ำมังกร ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นาน 7 วันแล้ว พบเพียงเป้สัมภาระ เผยเพิ่มมาตรการในการป้องปรามการลักลอบเข้าเขตหวงห้ามของอุทยานให้เข้มข้นมากขึ้น

จากเหตุการณ์ชายวัย 59 ปี หายตัวขณะเก็บของป่าเขาถ้ำมังกร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และขาดการติดต่อตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเข้าทำการค้นหาตั้งแต่ได้รับแจ้งเหตุ แต่ยังไม่พบร่องรอย 

นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้สั่งสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานข้างเคียงในพื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง และอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ร่วมกับชาวบ้าน จำนวนทั้งสิ้นกว่า 100 นาย เข้าทำการค้นหาแบบปูพรมในพื้นที่ดังกล่าว จากการค้นหาพบเป้ เสบียง ไฟฉาย เสื้อผ้า และเศษหินพระธาตุ แต่ยังไม่พบร่องรอยของผู้สูญหายและได้ดำเนินการค้นหาอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่า ทางอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้จัดชุดปฏิบัติการค้นหาอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 3 วัน และมีการสนธิกำลังกับอุทยานที่อยู่รอบๆ และตั้งศูนย์วิทยุรับแจ้งเหตุ และชุดลาดตระเวน จำนวน 5 ชุด รวมทั้งมีชาวบ้านมาร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน ทำการปูพรมค้นหาในจุดที่พบเป้ เสบียง และจุดที่คาดว่าผู้สูญหายพลัดหลง มีการแสกนพื้นที่อีกครั้ง

โดยเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนได้ตั้งแคมป์พักแรมบนเขา ณ จุดรวมพล ส่วนชาวบบ้านได้กลับลงมา เนื่องจากร่างกายอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยจากการค้นหาตลอดทั้งวัน ส่วนวันนี้จะทำการปูพรมค้นหากันต่อ โดยจะขยายพื้นที่ไปในส่วนที่เป็นโพรงเขา โพรงถ้ำ และจุดที่เป็นเหว ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายต้องใช้เจ้าหน้าที่อุทยานที่มีความชำนาญ จากการรายงานวันนี้ยังไม่ร่องรอยผู้สูญหาย ซึ่งวันนี้จะต้องให้เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนกลับลงมา เพื่อวางแผน และปรับแผนการค้นหาใหม่ กว่าเจ้าหน้าที่จะเดินเท้ากลับมาถึงประมาณช่วง 6 โมงเย็น ขณะนี้ยืนยันว่าจะปฏิบัติการค้นหาจนกว่าจะเจอผู้สูญหาย

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวอีกว่า ในการปฏิบัติงานลาดตระเวนเพื่อป้องปรามกันลักลอบเข้าเขตพื้นที่หวงห้ามของเจ้าหน้าที่อุทยานนั้น ค่อนข้างจะควบคุมยาก เนื่องจากชาวบ้านจะเห็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีการวางสายลับแจ้งข่าวทำให้ไม่พบการกระทำผิด หรือมีการลักลอบเข้าไปตัดหินพระธาตุ คล้อยหลังจากที่เจ้าที่อุทยานเข้าไปตรวจตรา ซึ่งมาตรการล่าสุดคือการ ออกประกาศเขตหวงห้ามของพื้นที่อุทยานเขาสามร้อยยอด เพื่อแจ้งไปยัง ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ รับทราบ

เพื่อที่จะสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง ซึ่งในพื้นที่ที่เป็นภูเขาทั้งหมดของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดถือเป็นเขตหวงห้ามทั้งหมด ไม่อนุญาตให้บุคคลเข้ามา เนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบาง และเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย ห้ามเข้าไปเก็บของป่า ล่าสัตว์ป่า ไม้หายาก หรือที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้คือ การลักลอบเข้าไปตัดหินพระธาตุ ซึ่งเขตหวงห้ามจะไม่เกี่ยวข้องกับเขตที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว

หลังจากนี้จะต้องมีการตั้งจุดสกัดเพิ่มเติม โดยเฉพาะจุดสำนักสงฆ์ถ้ำเกาะไผ่ ซึ่งเป็นจุดที่มีการลักลอบขึ้นไปตัดหินพระธาตุ หรือเก็บเศษหินพระธาตุที่ถ้ำเขามังกร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพุทธอุทยาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมอุทยาน ตั้งจุดสกัดมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง เพื่อป้องปรามการลักลอบตัดหินพระธาตุ และดูแลทรัพยากรป่าไม้ สำหรับถ้ำมังกร เป็นเทือกเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน ใช้เวลาเดินเท้า 3-4 ชั่วโมง มีทั้งจุดที่เป็นร่องเหวลึก เป็นโพรงหากไม่ชำนาญจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านลักลอบขึ้นไปตัดหินพระธาตุบนเขาถ้ำมังกร คือมูลค่าของหินพระธาตุที่มีราคาสูง เป็นของหายาก บางชิ้นมีมูลค่านับหมื่นนบาท โดยเฉพาะหินพระธาตุบนเขาสามร้อยยอดจะมีลักษณะเด่นพิเศษ มีความเชื่อว่าเป็นหินมงคล หินบางชิ้นมีชั้นสีต่างๆ บางก้อนมีเสี้ยนคล้ายเสื้ยนไม้ และมีออเดอร์จากต่างประเทศ แต่เดิมที่จะนำหินก้อนใหญ่มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป วัตถุมงคลต่างๆ แต่ระยะหลังนำมาทำเป็นลูกปัดสร้อยข้อมือ เพราะจะง่ายและสะดวกในการขนย้าย ตอนนี้เศษหินพระธาตุมีมูลค่าตามมาด้วย ซึ่งจะต้องมีมาตรการป้องกันการลักลอบที่เข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน

อยากให้ชาวบ้านและชุมชนตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรที่เรามีอยู่โดยเฉพาะทรัพยากรที่ไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ หินพระธาตุก็เช่นกัน เมื่อถูกตัดออกไปแล้ว เราก็สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าไป อีกทั้งในปัจจุบัน มีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ มาตรา 65 การเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลของบุคคลที่ได้รับอนุญาตในเขตพื้นที่ ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้มีการกำหนดโซนนิ่งที่ชัดเจนไว้แล้ว เช่น ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ชาวบ้านสามารถเข้ามาหาปลาได้ รวมทั้งมีการส่งเสริมท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งชาวบ้านจะต้องตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรร่วมกันด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น