สมุทรสงคราม - “อัจฉริยะ” ยื่นสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 7 จังหวัดสมุทรสงคราม เร่งรัดคดี “ทนายตั้ม” กับพวกตกเป็นผู้ต้องหาคดีหลอกนักโทษคดียาเสพติดว่าสามารถลดโทษได้ โดยตำรวจภาค 7 สั่งฟ้องตั้งแต่ปี 2563 ผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปีอัยการยังไม่สั่งคดี หากยังไม่ดำเนินการจะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ทุกอธิบดีที่ผ่านมา
เวลา 10.00 น.วันนี้ (12 พ.ย.) ที่สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 7 จังหวัดสมุทรสงคราม นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายณรงค์ชัย หิรัญรัตน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับ กรณีอัยการคดีทุจริตภาค 7 นำสำนวนคดีทนายตั้ม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ร่วมกับพวกใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 เรื่องสามารถลดโทษจากการขยายผลไปจับกุมผู้เกี่ยวข้องรายใหญ่คดียาเสพติด
โดยหลอกลวงนายธีรวัฒน์ บุญรอด หรือออย หลงเชื่อ และมอบเงิน 4 แสนบาทให้ทนายตั้มไป ต่อมาพนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้ตรวจสอบแล้วเป็นเรื่องจริง และดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมาย กระทั่งพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องคดีไปยังพนักงานอัยการคดีทุจริต ภาค 7 แล้วนำสำนวนดังกล่าวไว้ 4 ปี โดยไม่ดำเนินการสั่งคดีแต่อย่างใด อันมีเจตนาส่อไปในทางทุจริต ก่อนที่นายอัจฉริยะ จะเข้าไปพูดคุยหารือภายในสำนักงานโดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงออกมาให้สัมภาษณ์ข้อมูลต่างๆ กับผู้สื่อข่าว
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ตนมาสอบถามความคืบหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุด 2 ครั้ง และที่สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 อีก 2 ครั้ง ยังไม่ได้รับความคืบหน้าใดๆ ครั้งนี้จึงมาสอบถามเป็นครั้งที่ 3 หากยังนิ่งเฉย ตนจะฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการตนพูดคุยหารือกับรองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 และอัยการเจ้าของสำนวน ทราบว่าคดีนี้กลุ่มผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมมากกว่า 10 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 และมีการสอบเพิ่มเติมตลอดเวลา มากกว่า 10 ครั้ง ต่อมาท่านอธิบดีสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 ท่านมารับตำแหน่งใหม่ เล็งเห็นความสำคัญเป็นคดีระดับชาติ เนื่องจากเป็นคดียาเสพติด จึงได้สั่งให้อัยการเจ้าของสำนวนนำสำนวนทั้งหมดที่มีการสอบเพิ่มเติมเอกสารกว่า 3,000 แผ่น มาพิจารณาและเสนอไปยังท่านอัยการสูงสุดภายในวันนี้ เนื่องจากเป็นคดีสำคัญอำนาจพิจารณาจะต้องส่งไปยังท่านอัยการสูงสุดลงความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่
นายอัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า ทนายตั้มกับพวกที่เป็นข้าราชการตำรวจ 2 นาย พยายามยื่นขอความเป็นธรรมทีละครั้งทีละคนรวมมากกว่า 10 ครั้ง ทำให้อัยการเจ้าของสำนวนต้องสอบตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ เนื่องจากถ้าไม่สอบจะถูกกล่าวหาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมา ทนายตั้มร้องว่าเรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว ตำรวจทำหลักฐานเท็จ มีการอ้างพยานบุคคลต่างๆ ให้มาสอบเพื่อประวิงเวลาให้เกิน 2 ปี ให้ข้าราชการตำรวจกลับมารับราชการได้ตามระเบียบ บางครั้งเลื่อนพยานต้องรอนานเป็นเดือน อัยการจึงต้องสอบประเด็นมากกว่า 28 ประเด็น ตามที่ตั้งร้องขอ จนเสร็จสิ้นและเสนออัยการสูงสุดวันนี้ ตนเข้าใจการทำงานของอัยการ จึงต้องขอบคุณท่านอธิบดีสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 ท่านทำหน้าที่ของท่านตามอำนาจหน้าที่ เป็นที่พอใจของตน ขณะที่ท่านอัยการสูงสุดยืนยันว่าด้วยเกียรติของท่านว่าจะทำคดีนี้ด้วยความสุจริตโปร่งใส และเป็นธรรม
สำหรับประเด็นสำคัญซึ่งทนายความและตำรวจมักจะหยิบยกมาใช้ประโยชน์ คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้