xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยุติธรรมรับหนังสือกลุ่มผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาดโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ถูก UJV เบี้ยวค่าจ้างหลายพันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าว​ศรี​ราชา​ - รมว.ยุติธรรม พร้อมรองเลขานุการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง รับหนังสือกลุ่มผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ถูกผู้รับเหมาต่างชาติ UJV เบี้ยวจ่ายค่าแรง 8 เดือน รวมหลายพันล้านบาท วอนช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงการค้างชำระค่าจ้าง

จากกรณีที่กลุ่มผู้รับเหมาช่วง โครงการ CFPพลังงานสะอาด โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้นำแรงงานนับพันคนจาก 28 บริษัท รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังถูกกิจการร่วมค้า UJV ที่ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd., และ Saipem Singapore Pte., Ltd. เบี้ยวจ่ายค่าจ้างนาน 6-8 เดือนรวมเป็นเงินหลายพันล้านบาท

และเมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (12 พ.ย.) นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง​ยุติธรรม ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งติดภารกิจในต่างประเทศ

โดยใจความสำคัญที่ระบุในหนังสือที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี มีทั้งเรื่องผลกระทบที่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ถูกเบี้ยวค่าแรงแม้จะส่งมอบงานตามสัญญาเป็นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.2567 ที่ได้ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้รับเหมาช่วงกว่า 100 ราย จนส่งผลกระทบต่อแรงงานกว่า 10,000 คน

รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งระบุไว้มิให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานได้ แม้ว่าผู้รับเหมาหลักมิได้ชำระเงินค่างวดงาน ทำให้ผู้รับเหมาช่วงบางรายยังจำเป็นต้องดำเนินงานต่อ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย


และแม้ในวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้รับเหมาช่วงจะได้นำแรงงานกว่า 3,000 คน เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บริหารบริษัท ไทยออยล์ ที่ด้านหน้าโรงกลั่นใน อ.ศรีราชา เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อน โดยขอให้บริษัท ไทยออยล์ ช่วยเจรจาให้กลุ่ม UJV ยอมจ่ายค่าจ้างที่ยังค้างจ่าย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีอะไรคืบหน้า

กระทั่งวันที่ 28 ต.ค.2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้มีหนังสือเรียกให้ บริษัทไทยออลย์ กิจการร่วมค้า UJV และกลุ่มผู้รับเหมาช่วง โครงการ CFP พลังงานสะอาด เข้าประชุมร่วมกันเพื่อพูดคุยและหาทางออก แต่กิจการร่วมค้าระหว่างกลุ่มบริษัท UJV กลับมิได้เข้าร่วมประชุม โดยได้ส่งแฟ็กซ์แจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เนื่องจากรายละเอียดในสัญญาของแต่ละผู้รับเหมาช่วงไม่เหมือนกัน และจำเป็นต้องคุยแยกแต่ละเจ้า

ต่อมา ในวันที่ 31 ต.ค.2567 ผู้ว่าราชการจัดหวัดชลบุรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการ CFP พลังงานสะอาด ประกอบด้วย บริษัทไทยออยล์ ผู้รับเหมาหลัก(UJV) และผู้รับเหมาช่วง 5 เจ้าใหญ่ เพื่อพูดคุยข้อเท็จจริงของปัญหา แต่สุดท้ายยังไม่ได้ข้อยุติ จนทำให้ต้องเกิดการฟ้องร้องต่อความไม่เป็นธรรม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 กลุ่มผู้รับเหมาช่วง โครงการ CFP พลังงานสะอาด ยังได้ตัดสินใจนำเอกสารหลักฐานต่างๆ เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดทางอาญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า UJV ผู้แทน และบุคคลเกี่ยวข้องฐานทุจริตหลอกลวง ไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญา โดยยืนยันว่าจะดำเนินคดีจนถึงที่สุด


ทั้งนี้ การเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี กลุ่มผู้รับเหมาช่วงยังได้แนบเอกสารระบุผลกระทบจากการถูกค้างชำระค่าจ้างก่อสร้างที่ได้ส่งผลร้ายแรงในวงกว้าง เช่น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ หากเกิดการล่าช้าหรือหยุดชะงักของโครงการพลังงานสะอาด ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนพัฒนาพลังงานในระยะยาว

ผลกระทบต่อแรงงานและครอบครัว ที่ถูกเลิกจ้างและที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง ความเชื่อมั่นต่อเจ้าของโครงการในไทย รวมทั้งเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทางอ้อม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของรัฐ 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้รับเหมาช่วงตระหนักดีว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากหน่วยงานราชการและเจ้าของโครงการในการแก้ไขปัญหาให้แก่แรงงานของผู้รับเหมาบางส่วน แต่สุดท้ายยังไม่เห็นว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขหรือมีมาตรการช่วยเหลือแต่อย่างใด

อีกทั้งแม้กลุ่มผู้รับเหมาช่วงจะตระหนักดีว่ามีสิทธิในการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่ค้างชำระตามสัญญา แต่การใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และไม่ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง หรือความล่าช้าของโครงการ และอาจต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีนานหลายปี


ขณะที่ปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานและความเสียหายต่อโครงการยังคงดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากภาครัฐและผู้ถือหุ้นทางอ้อมของเจ้าของโครงการ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการบรรเทาความเดือดร้อนและรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย รวมถึงรัฐและเจ้าของโครงการที่ยังสามารถประคองให้โครงการดำเนินต่อไปได้

โดยได้มีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การค้างชำระค่าจ้างผู้รับเหมาช่วงในโครงการ และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อความสำเร็จของโครงการ รวมทั้งจัดหามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน สำหรับกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วง และแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งขอให้มีการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานและครอบครัว เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดกระบวนการจ่ายค่าตอบแทนที่ค้างชำระ โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการช่วยเหลือทางกฎหมายหากจำเป็น

และขอให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจากตัวแทนภาครัฐ PTT ผู้ถือหุ้นหลักของโรงกลั่นไทยออยล์ร่วมกับเจ้าของโครงการ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยให้มีตัวแทนจากกลุ่มผู้รับเหมาช่วง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานเพื่อพิจารณามาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ในโครงการสำคัญของประเทศในอนาคต

อีกทั้งขอให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองผู้รับเหมาช่วงและแรงงานในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ป้องกันการลุกลามของปัญหา อันจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงาน เศรษฐกิจของประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว








กำลังโหลดความคิดเห็น