xs
xsm
sm
md
lg

ชี้มีแต่กดขี่ไม่เห็นหัวคน! 47 องค์กร ปชช.ลุกฮือหน้าศาลากลางเชียงใหม่ เรียกร้องรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” หยุดดัน พ.ร.ก.ป่าอนุรักษ์ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - 47 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนลุกฮือ..รวมตัวยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล ‘แพทองธาร’ หยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์เข้า ครม.ทันที


วันนี้ (11 พ.ย.) ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 47 เครือข่ายได้รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ร่วมขบวนการประชาชนหยุดพระราชกฤษฎีกา ‘ป่าอนุรักษ์’ พร้อมยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์เข้า ครม.โดยทันที

ระบุว่า การประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามนโยบายของหลายรัฐบาลสืบเนื่องกันมา ทำให้สถานการณ์การเร่งรัดประกาศป่าอนุรักษ์ด้วยการออกกฎหมายและใช้กำลังป่าเถื่อนเกิดเป็นกรณีความขัดแย้งทั่วประเทศ อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนหลายกรณีตอกย้ำความรุนแรงจากผู้ถือกฎหมายที่กระทำต่อผู้คนในเขตป่าอย่างเลือดเย็นไม่จบสิ้น

และท่ามกลางช่วงเวลาอันเจ็บปวดเหล่านั้น พวกเราในฐานะ “ผู้บุกเบิก” และผู้ดูแลรักษาป่า ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้บุกรุก-ผู้ทำลายป่า” ซึ่งได้ยืนยันสิทธิและร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอด นอกจากนี้ ที่ผ่านมาหลายชุมชนยังได้ร่วมกันดูแลรักษาป่า และปกป้องผืนป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันสภาพป่าได้ฟื้นตัว มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม

แต่ภัยคุกคามใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือความพยายามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เร่งผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้มีผลบังคับใช้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายนนี้


แถลงการณ์ระบุว่า เนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 2 ฉบับนั้นเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนประชาชนผู้บุกเบิกให้กลายเป็นผู้บุกรุก สอดแทรกแนวทางการยึดที่ดินของประชาชน บีบบังคับจำกัดสิทธิการถือครองที่ดิน และยังรวบอำนาจผูกขาดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ที่หน่วยงานป่าไม้เท่านั้น แนวทางดังกล่าวเป็นการผลักคนออกจากป่าไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมาแม้แต่น้อย

ดังนั้นจึงขอประณามการกระทำของกระทรวงทรัพยากรฯ และกรมอุทยานฯ ที่พยายามผลักดันกฎหมายอนุรักษ์อันล้าหลังและอำนาจนิยมขนาดนี้มากดขี่ประชาชนโดยไม่สนใจกระแสโลกที่เปลี่ยนไปสู่การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนท้องถิ่น แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

และขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และนาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ต้องแสดงความกล้าหาญปกป้องประชาชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์กว่า 4 พันชุมชนที่กำลังถูกรัฐราชการอำนาจนิยมโดยกรมอุทยานฯ กดขี่รังแก

โดยในอังคารที่ 12 พฤศจิกายนนี้ รัฐบาลต้องยุติการนำร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข


“หยุดพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ที่ไม่เห็นหัวคนทันที” นี่คือประกาศิตจากพวกเราในนามประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศ จะให้ประชาชนอยู่อย่าง “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” อย่างไร ในเมื่อที่ดินทำกินเรากำลังจะถูกยึด วิถีชีวิตกำลังถูกทำลายย่อยยับ รัฐบาลแพทองธารที่อ้างตัวว่ามาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จะต้องกล้าหาญที่จะหักหาญกับข้าราชการประจำเพื่อปกป้องสิทธิของพี่น้องประชาชนอย่างถึงที่สุด

เพราะเราต้องทุกข์ทนจากกฎหมายป่าไม้มรดกรัฐบาลเผด็จการ คสช.มากว่า 10 ปี หน้าที่ของรัฐบาลเลือกตั้งคือปลดปล่อยพวกเราออกจากอำนาจป่าเถื่อนกดหัวคนจนในคราบนักอนุรักษ์ที่กดทับเรามาหลายทศวรรษแล้วเช่นกัน ซึ่งนี่จะเป็นเดิมพันถึงอนาคตของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเช่นกันว่าจะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสายตาประชาชนไทยและประชาคมโลกหรือไม่ หรือจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการและลิ่วล้อข้าราชการเท่านั้น

ทั้งนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

สำหรับขบวนการประชาชนหยุดพระราชกฤษฎีกา ‘ป่าอนุรักษ์’ ครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)
2. เครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตกเพื่อความเป็นธรรม
3. บางกลอยคืนถิ่น
4. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
5. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
6. เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

7. เครือข่ายสลัมสี่ภาค
8. เครือข่ายฮักน้ำของ
9. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
10. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดเชียงใหม่
11. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดเชียงราย
12. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดลำปาง
13. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดน่าน
14. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดแพร่
15. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดพะเยา

16. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดตาก
17. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน
18. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดอุตรดิตถ์
19. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดลำพูน
20. เครือข่ายชาวเลอันดามัน

21. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
22. มูลนิธิชุมชนไท
23. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
24. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
25. เครือข่ายกะเหรี่ยง ภาคเหนือ
26. เครือข่ายม้ง 54 หมู่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่


27. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลาง ดอยอินทนนท์
28. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ยะ แม่ปอน ดอยอินทนนท์
29. กลุ่มคนฮักอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
30. เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมือง
31. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่วาง
32. เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

33. ที่ปรึกษา PAC ภาคประชาชน ในพื้นที่อุทยานจังหวัดเชียงใหม่
34. กลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อำเภอจอมทอง
35. กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกษตรที่พักดอยอินทนนท์
36. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ
37. เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง จังหวัดเชียงใหม่

38. สมาคมม้งประเทศไทย
39. เครือข่ายลุ่มน้ำแตงตอนบน
40. เครือข่ายลุ่มน้ำขาน
41. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลำพูน
42. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลทาเหนือ

43. เครือข่ายป่าชุมชนเวียงแหง
44. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ แม่แตะ
45. เครือข่ายเยาวชน คกน.
46. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิทธิมนุษยชน (คกส.)
47. มูลนิธิกะเหรี่ยงเพื่อการพัฒนาและบริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น