xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยุติธรรมคอลคุยกับแม่ที่สร้างห้องขังลูกทาสยา ด้าน ป.ป.ส.เพิ่งตื่นจัดชุดสกัดยาเสพติดเข้มข้นขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุรีรัมย์ - รมว.ยุติธรรมวิดีโอคอลตรงคุยกับแม่ชาวบุรีรัมย์ที่สร้างห้องคล้ายกรงขังไว้ป้องกันลูกทาสยา รับเป็นกรณีศึกษาช่วยเหลือเต็มที่ ป.ป.ส.รุดตรวจสอบหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลดการแพร่ระบาด แม่ตัดพ้อใครไม่เจอเองไม่เข้าใจ ยันแค่ทำไว้กักบริเวณหวังให้ลูกเลิกยาและทุกคนในบ้านปลอดภัย ฝากรัฐปราบยาเสพติดต้นตอปัญหา


วันนี้ (6 พ.ย. 67) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้วิดีโอคอลพูดคุยสอบถามรายละเอียดกับนางสารภี อายุ 64 ปี แม่ชาวอำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่เผชิญปัญหาลูกชายอายุ 42 ปี ติดยาเสพติดและการพนันออนไลน์อย่างหนัก จนมีพฤติกรรมก้าวร้าว โวยวายอาละวาด ข่มขู่ขอเงินแม่ หากไม่ได้ดั่งใจก็ขู่จะทำร้าย ทำลายข้าวของ ขับรถชนบ้านพัง ส่งบำบัดรักษาหลายครั้งแต่ออกมาก็กลับสู่วังวนเดิม ทำให้ผู้เป็นแม่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงทุกข์ทรมานมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดถึงขั้นจำใจจ้างช่างมาทำห้องติดลูกกรงล้อมรอบคล้ายห้องขังที่บริเวณหน้าห้องครัวชั้นล่างของบ้าน เพื่อไว้สำหรับดูแลควบคุมพฤติกรรมลูกชายหลังออกจาก รพ.กลับมาฟื้นฟูที่บ้าน เพื่อให้หายขาดจากยาเสพติด ทั้งป้องกันความปลอดภัยของตัวเองและคนในชุมชนหากลูกเกิดคลุ้มคลั่ง

โดยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมบอกกับแม่ว่าจะขอเข้าไปดูแลเคสนี้ให้ เพื่อเป็นเคสศึกษาเพื่อจะหาแนวทางช่วยกัน เชื่อว่าแม่มีความรักลูก รับปากว่าจะช่วยดูแลลูกให้หายเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตปกติให้ได้ ขณะที่ผู้เป็นแม่ก็บอกกับรัฐมนตรีว่าอยากให้เป็นวิทยาทานเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ให้ครอบครัวอื่นต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนกับตนเอง


ขณะที่นางศิริวรรณมาศ รัตนภักดี ผอ.ส่วนวิเคราะห์ข่าวและเฝ้าระวัง สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 3 พร้อมด้วย นางสุวิมล พัฒนาวิศิษฏ์ หน.กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อสุขภาพและยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุข จ.บุรีรัมย์, พ.ต.อ.กำพล วงศ์สงวน ผู้กำกับการ สภ.นางรอง, นายธนธรณ์พล ไขว้พันธ์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านนางสารภี ที่สร้างห้องคล้ายห้องขัง เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และเยี่ยมให้กำลังใจด้วย โดยผู้เป็นแม่ก็อธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่าสาเหตุที่จ้างช่างมาสร้างห้องคล้ายห้องขังในบ้านก็เพื่อต้องการจะดูแลลูกให้เลิกยาเสพติด, การพนัน

รวมถึงป้องกันความปลอดภัยทั้งของตนเองและคนในชุมชนด้วย เพราะที่ผ่านมาเคยส่งลูกไปบำบัดรักษาหลายครั้งแต่ออกมาก็ยังหวนกลับไปติดยาและมีพฤติกรรมเหมือนเดิมอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ต่างก็เห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของคนเป็นแม่ แต่ก็ยืนยันว่าการสร้างห้องไว้กักขังลูกเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดสิทธิและผิดกฎหมายฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหาแนวทางดูแลรักษาลูกชายให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติให้ได้มากที่สุด

ทำให้ผู้เป็นแม่คลายความกังวลและรับปากหากลูกหายก็พร้อมจะรื้อหรือปรับเปลี่ยนห้องขังดังกล่าวเป็นห้องสำหรับเก็บของหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน แต่ก็อยากฝากให้ภาครัฐกวาดล้างปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นต้นตอทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ให้หมดไปจากประเทศด้วย

นางศิริวรรณมาศกล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า กรณีที่สร้างห้องคล้ายห้องขังเพื่อควบคุมลูกที่ติดยา ถือเป็นเคสแรกที่เคยเจอ ซึ่งก็ได้ทำความเข้าใจกับแม่ว่าไม่สามารถทำได้ และยิ่งจะส่งผลทำให้กระตุ้นจิตใจทำให้เขาต่อต้านและคลุ้มคลั่งมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดังนั้นแนวทางในการดูแลแก้ปัญหาเคสนี้ก็จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งตัวลูกชายที่ใช้สารเสพติดต่อเนื่องมาหลายปีจนมีผลต่อสมองทำให้กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชร่วมด้วย ไปบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวและคนในสังคม ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็มีความเป็นห่วง และสั่งการให้ดูแลเคสนี้เป็นพิเศษ ทั้งเรื่องการรักษาให้หายไม่ว่าจะเป็นการบำบัดเพิ่มจนหายขาด และไม่ให้หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก

ขณะเดียวกันก็ต้องมีการบูรณาการภาคส่วนต่างๆ เพิ่มมาตรการสกัดกั้นจับกุมยาเสพติดอย่างเข้มงวดมากขึ้นด้วย จากเดิมที่มีแผนสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งสถิติการจับกุมที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากความเข้มแข็งของ จนท.ที่ปฏิบัติหน้าที่จับกุมปราบปราม อีกปัจจัยก็เพราะยาทะลักเข้ามามากขึ้น ดังนั้นก็ต้องสกัดกั้นจับกุมเข้มข้นมากขึ้นอีก


ด้านหัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อสุขภาพและยาเสพติด สาธารณสุขจังหวัด ก็มาดูสภาพความเป็นอยู่บ้านของผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้รักษาตัวทั้งเรื่องยาเสพติดและจิตเวชที่ รพ.นางรอง กรณีที่เกิดขึ้นทาง จนท.ก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เป็นแม่ที่ทั้งห่วงและรักลูกอยากให้ลูกหาย ทั้งไม่อยากให้สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น ก็จะให้เจ้าหน้าที่มาพูดคุยดูแลสภาพจิตใจของคุณแม่ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือกังวล

ส่วนการส่งผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ.จิตเวชราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา คุณหมอก็ต้องวินิจฉัยตามอาการว่าจะต้องใช้เวลาบำบัดรักษามากน้อยขนาดไหน ซึ่งตอนนี้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะสมองติดยา แต่สุดท้ายเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็ต้องส่งกลับบ้าน ส่วนที่แม่กังวลหลังส่งกลับบ้านก็จะมี จนท.ติดตามอาการต่อเนื่อง รวมถึงขอความร่วมมือชุมชน สังคม ช่วยดูแลไม่บูลลี่หรือทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ยาเสพติดอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น