ลำปาง - หมอช้างทำพิธีปัดพลาย ก่อนสัตวแพทย์ลงมือผ่า-ทำพิธีทางศาสนาแล้วฝัง “กันยา” ลูกช้างหลงโขลง วัย 13 เดือน หลังล้มลงด้วยโรค EEHV เผยตอนอยู่กับช้างแม่รับที่เชียงใหม่ชอบเล่น-ใช้งวงแตะใบหน้า/ดึงหูควาญ น่ารักจนได้ฉายา “ลูกช้างแห่งชาติ”
วันนี้ (6 พ.ย. 67) หมอช้างได้ทำพิธีปัดพลาย หรือการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากซากช้าง “กันยา” ที่ล้มเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังจากป่วยด้วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) หรือติดเชื้อในเลือด และเข้าทำการรักษาที่ รพ.ช้าง สถาบันคชบาลฯ ได้เพียง 2 วัน ท่ามกลางความเศร้าของควาญช้างที่เลี้ยงดูและสัตวแพทย์
หลังจากเสร็จพิธีพื้นบ้านแล้ว น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ พร้อมทีมสัตวแพทย์ เตรียมทำการผ่าซากและทำพิธีทางศาสนาก่อนจะนำไปฝังต่อไป ขณะที่ทีมนายธีรภัทร ตรังปราการ ผู้ร่วมก่อตั้ง Patara Elephant Conservation ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูลูกช้างกันยา ได้พิมพ์รอยเท้าและงวงของ “กันยา” ไว้เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกครั้งสุดท้ายด้วย
นายธีรภัทร ตรังปราการ เปิดเผยว่า “กันยา” เป็นลูกช้างป่าที่ออกมาหากิน แต่เกิดพลัดหลงโขลง มีร่างกายที่แคระแกร็นเจริญเติบโตช้ากว่าช้างปกติทั่วไป รวมถึงมีภาวะขาดสารอาหาร ได้รับการช่วยเหลือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และถูกนำมาเลี้ยงกับช้างแม่รับ ที่ Patara Elephant Farm อ.หางดง จ.เชียงใหม่
ซึ่ง “พังโมลา” เป็นแม่รับลูกช้างเข้ากับแม่ได้ดี ร่างกายเจริญเติบโต สมบูรณ์ ร่าเริง น่ารัก ทางทีมงานดูแลเหมือนลูกคนหนึ่งและน้องกันยาก็เป็นช้างที่น่ารักชอบเล่นกับควาญ ชอบใช้งวงแตะไปที่ใบหน้าหรือดึงหูของควาญ ใช้เสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแสดงถึงอารมณ์และความต้องการ สื่อสารกับคน เป็นที่รักของควาญช้างทุกคน จนได้ฉายา "ลูกช้างแห่งชาติ"
แต่ช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมาอากาศในจังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน วันหนึ่งมีถึง 3 ฤดู ซึ่งคนเลี้ยงช้างจะรู้ดีว่าเป็นช่วงอันตรายสำหรับลูกช้างที่อายุไม่ถึง 10 ปี เพราะอากาศจะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เกิดโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) หรือติดเชื้อในเลือด
“กันยา” ก็ล้มป่วย และคาดว่าจะติดเชื้อ จึงรีบนำตัวส่งมารักษาที่ รพ.ช้างฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 สัตวแพทย์ได้พยายามรักษาอย่างเต็มกำลังทั้งการให้ยาต้านไวรัส ให้เลือด และให้ยาตามอาการ นอกจากนี้ยังพิจารณาแนวทางรักษาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในการให้สเต็มเซลล์ (Stem cell therapy) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านไวรัส ช่วยลดการอักเสบทั่วร่างกายช่วยรักษาสมดุลและเสริมสร้างเซลล์ใหม่ของหลอดเลือดซึ่งเป็นอวัยวะหลักที่เกิดความเสียหายในโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส (EEHV)
ขณะที่ หนูนา-กัญจนา ศิลปอาชา ก็สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ได้โพสต์ว่า "สเต็มเซลล์มาถึงหลังน้องจากไป 5 นาที" ด้วยภาวะของโรคไวรัสเฮอร์ปีส์ที่ส่งผลต่อระบบเลือดทำให้ "กันยา" จากไปเมื่อเวลา 23.31 น. คืนที่ผ่านมา (5 พฤศจิกายน 2567)
น.สพ.ดร.ทวีโภค อัวควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ทางทีมสัตวแพทย์หลังได้รับการประสานก็ได้เตรียมเลือดเพื่อจะให้เลือดกับน้องกันยาเพราะโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) เป็นโรคที่รุนแรงมาก คร่าชีวิตลูกช้างที่อายุไม่ถึง 10 ปีจำนวนมาก ที่ผ่านมาจากข้อมูลที่ตนได้สัมผัสมีโอกาสรอดของลูกช้างที่ติดเชื้อโรคชนิดนี้มีแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ซึ่งเมื่อน้องกันยามาถึงทางทีมสัตวแพทย์ก็ได้จัดทีมที่มีความเชี่ยวชาญกับโรคนี้มาดูแลรักษาและผลตรวจเลือดก็ออกมาว่าติดเชื้อดังกล่าว และเมื่อน้องมาถึงอาการของน้องก็ทรุดลงตามลำดับ จนช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ก็ไม่ตอบสนองการรักษาและล้มลงอย่างสงบในช่วง 23.30 น.ของเมื่อคืนนี้ (5 พ.ย. 67)