บุรีรัมย์ - จนท.หลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบและหาแนวทางช่วยเหลือ อดีตครูวัย 64 ปี ที่หมดหนทางดูแลลูกชายวัย 42 ติดยาบ้าและพนันออนไลน์ จ้างช่างมาทำห้องคล้ายกรงขังในบ้าน เป็นสถานที่ดูแลลูกชายด้วยตัวเอง หลังบำบัดกว่า 10 ครั้งไม่เป็นผล ทั้งคลุ้มคลั่งอาละวาดยิงปืนขู่ ขับรถชนบ้านพัง ทำร้ายเมียเลือดอาบ ด้านปลัดอำเภอชี้ผิด กม.ไม่สามารถทำกรงขังลูกได้ เข้าข่ายกักขังหน่วงเหนี่ยว ขณะแม่ยันไม่มีเจตนากักขังเพียงอยากดูแลรักษาลูกและเพื่อความปลอดภัย
วันนี้ (5 พ.ย. 67) จากกรณีที่นางสารภี อายุ 64 ปี อดีตข้าราชการครูคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านกับลูกชายวัย 42 ปี เพียง 2 คน ใน ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ แต่ลูกชายติดยาเสพติดอย่างหนักแถมติดพนันออนไลน์ ไม่ทำการทำงานชอบขู่ขอเงิน วันไหนแม่ไม่มีเงินให้ก็จะโวยวายอาละวาดทำลายข้าวของ ขู่เอาชีวิต เคยขับรถพุ่งชนบ้านพัง ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 67 หลอนยาคลุ้มคลั่งอาละวาด แม่จึงแจ้งเจ้าหน้าที่นำตัวส่งบำบัดที่ รพ.นางรอง
แต่กลัวว่าหากออกมาจะกลับไปเสพยาบ้าอีก เพราะที่ผ่านมาเคยแจ้งจับกรณีขับรถชนบ้านพัง แจ้งให้นำตัวส่งบำบัด ทั้งที่ค่ายทหาร รพ. และวัดมากกว่า 10 ครั้ง แต่พอเริ่มดีขึ้นถูกปล่อยออกมาอยู่บ้านก็กลับสู่วังวนเดิมทั้งเสพยา เล่นพนันออนไลน์ ทำให้แม่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดระแวงและทุกข์ทรมานใจ
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 67 จึงจำใจจ้างช่างมาทำห้องคล้ายกรงขังในบ้าน พร้อมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งไวไฟ ทีวี ห้องน้ำส่วนตัว และติดกล้องวงจรปิด เพื่อเตรียมไว้หากลูกออกจาก รพ.ครั้งนี้ก็ตั้งใจจะให้ลูกอยู่ในห้องดังกล่าว เพราะอยากให้ลูกหายจากการติดยาเสพติด ทั้งเพื่อความปลอดภัยของแม่เอง และของชาวบ้านในหมู่บ้านด้วย เพราะกลัวว่าถ้าเขาเสพยาหลอนหนักอาจจะทำร้ายแม่หรือคนอื่น แต่ก็ยังรอทำประชาคมรับฟังเสียงส่วนใหญ่จากชาวบ้าน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (5 พ.ย. 67) ปลัดอำเภอนางรอง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อัยการนางรอง สำนักงานคุมประพฤติ ตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ รพ. และฝ่ายปกครอง เตรียมลงพื้นที่ไปยังบ้านอดีตข้าราชการครูที่ทำห้องคล้ายกรงขัง เพื่อสอบถามรายละเอียดข้อเท็จจริง พร้อมทั้งให้คำแนะนำแนวทางการดูแลรักษาลูกชายที่ติดยาเสพติด และอาจมีภาวะจิตเวชด้วย ว่าจะดำเนินการดูแลรักษาอย่างไร
นายธนธรณ์พล ไขว้พันธ์ ปลัดอำเภอนางรอง ฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า จากข้อมูลที่ทางอำเภอและ รพ.ไปควบคุมผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการคลุ้มคลั่งมาดูแลบำบัดมากกว่า 100 ราย กรณีที่มีการรับแจ้งทางหน่วยงานอำเภอก็จะมีชุดเฉพาะกิจและมีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชโดยเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนและร้องขอผ่านมายังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ โดยมีปลัดอำเภอฝ่ายศูนย์ดำรงธรรมเป็นต้นเรื่องที่คอยรับเรื่องก่อนจะประสานให้ชุดเฉพาะกิจลงไปประเมินสถานการณ์และนำผู้ป่วยไปรักษา
การรักษาทั้งหมดนั้นจะอยู่ที่หมอจิตเวชซึ่งโรงพยาบาลนางรองมีอยู่ 2 คน หากอาการหนักจะส่งไปโรงพยาบาลบุรีรัมย์ รวมทั้งศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช นครราชสีมา และศูนย์ฯ ขอนแก่นตามลำดับ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่บำบัดออกมา จะมีอาการที่อ่อนตัวลงหรือไม่หนักเท่ากับตอนที่ยังไม่ได้บำบัด
สำหรับรายนี้ ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่หนักมาก กรณีนี้ทางหมอจิตเวชและหน่วยงานจะต้องหารือกันว่าจะนำส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่นหรือไม่ ส่วนกรณีผู้ปกครองทางเจ้าหน้าที่จะลงไปพูดคุยทำความเข้าใจช่วงบ่ายวันนี้ ส่วนเรื่องการทำห้องคล้ายกรงขังไว้ในบ้านนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะเข้าข่ายในเรื่องการกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่จะหาแนวทางดูแลช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ทีมข่าวยังได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับนางสารภี ผู้เป็นแม่อีกครั้ง ยืนยันว่าที่ตัดสินใจจ้างช่างมาทำห้องคล้ายกรงขัง เป็นเพียงความคิดในฐานะแม่ที่อยากจะดูแลลูกชายด้วยตัวเอง ให้เลิกยาเสพติดและการพนันเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะกักขัง เพราะเคยส่งบำบัดหลายครั้งก็ยังไม่ได้ผลกลับมาก็เป็นเหมือนเดิมอีก ที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของตนเอง และคนในหมู่บ้านด้วย เพราะที่ผ่านมาลูกเคยมีพฤติกรรมทั้งอาละวาด ยิงปืนขู่ ขับรถชนบ้านพัง และทำร้ายภรรยาถึงขั้นเข้า รพ.มาแล้ว แต่หากหน่วยงานภาครัฐบอกว่าไม่สามารถทำได้ ก็อยากให้หาแนวทางบำบัดรักษาลูกให้หายเป็นปกติไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก