ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เห็นแล้วทึ่ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เผยอันซีนปราสาทหินพิมาย 7 สิ่งที่ต้องตามหาและไม่สามารถหาพบได้ที่ปราสาทแห่งอื่น หวังสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์หวงแหนโบราณสถานและโบราณวัตถุอายุกว่า 1,000 ปี กระตุ้นการท่องเที่ยวเทศกาลเที่ยวพิมาย
วันนี้ (5 พ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา นายภานุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ได้จัดโครงการฝึกอบรมเครือข่ายอาสาสมัครศิลปากรพิมาย “Phimai Fine Arts Volunteer 2024” เพื่อสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร และสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์หวงแหนโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับปราสาทหินพิมายอายุกว่า 1,000 ปี ตลอดจนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายนนี้
อุทยานประวัติศาสตร์พิมายได้เผยแพร่ข้อมูลอันซีนทั้ง 7 อย่าง หรือ “7 Unseen in Phimai Historical Park” ให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมปราสาทหินพิมายได้ร่วมตามหา ซึ่งทั้ง 7 อันซีนจะไม่มีทางพบที่ปราสาทแห่งอื่นอย่างแน่นอน
โดยอันซีนชิ้นที่ 1 อยู่บริเวณระเบียงคตโคบุระทางทิศตะวันออก เป็นทับหลังรูปการอัญเชิญพระนาคปรกจากเมืองพระนคร (นครวัด) มาประดิษฐานยังปราสาทหินพิมาย ซึ่งส่วนใหญ่ทับหลังจะเป็นการสลักภาพคติความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ฮินดู คัมภีร์รามายณะ ซึ่งมีเพียงทับหลังชิ้นนี้เพียงชิ้นเดียวที่เป็นภาพสลักความเชื่อในศาสนาพุทธ
อันซีนชิ้นที่ 2 เป็นภาพสลักรูปนกบริเวณซุ้มประตู ลักษณะคล้ายคนมือบอนขีดเขียนกำแพง แต่ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปะของคนแต่ละยุคสมัยที่ถูกแต่งเติมเข้าไปในภายหลัง เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายมีการใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยถูกปล่อยทิ้งร้าง
อันซีนชิ้นที่ 3 เป็นภาพสลักทับหลัง ตอนพระรามและพระลักษณ์ต้องศรนาคบาท ถ้าเป็นตามท้องเรื่องรามเกียรติ์จะเป็นพระลักษณ์เพียงองค์เดียวที่ต้องศรนาคบาท แต่ถ้าเป็นตามคัมภีร์รามายณะ จะเป็นทั้งพระรามและพระลักษณ์ที่ต้องศรนาคบาททั้งคู่ ทำให้การศึกษาเรื่องปราสาทหินต้องอ้างอิงตามคัมภีร์รามายณะ ไม่ใช่เรื่องรามเกียรติ์
อันซีนชิ้นที่ 4 จะอยู่บริเวณโคนด้านล่างเสาประดับประตูปรางค์ประธาน เป็นภาพของเทพสตรี (นางยักษ์) ผู้คุ้มครองประตู ยืนยิ้มจนเห็นฟันเรียงเป็นซี่ ซึ่งถ้าตามความเชื่อสมัยโบราณ เทพผู้คุ้มครองประตูต้องมีท่าทีน่าเกรงขามเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย ยิ่งเป็นสตรีด้วยแล้วจะต้องสงวนท่าที การจะยิ้มเห็นฟันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
อันซีนชิ้นที่ 5 อยู่บริเวณระเบียงคตชั้นในฝั่งทิศตะวันออก บริเวณโคนเสาประดับประตูโคบุระ เป็นภาพฤษีดัดตน นั่งชันเข่าพนมมือไหว้ เป็นที่มาของท่าการมีความสุขของเจ้าหน้าที่นำเที่ยวอุทยานปราสาทหินพิมาย
อันซีนชิ้นที่ 6 เป็นภาพสลักรูปหมูป่าบริเวณเสาประดับกรอบประตูด้านระเบียงคตชั้นในทิศเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่การสลักภาพที่เสาประดับกรอบประตูจะเป็นเทพผู้คุ้มครอง การสลักรูปหมูป่าจึงอาจจะเป็นการสื่อถึงวิถีชีวิตการล่าสัตว์เพื่อยังชีพของคนในยุคโบราณ
ส่วนอันซีนชิ้นที่ 7 อยู่บริเวณด้านหลังปราสาททางทิศเหนือ ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาทับหลังที่ขุดค้นพบในบริเวณปราสาทหินพิมาย จำนวนกว่า 169 ชิ้น จึงถือว่าเป็นปราสาทที่มีทับหลังมากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งอันซีน คือ “ปรากฏการณ์สุริยาอัสดง ลอดซุ้มประตูปราสาทหินพิมาย” ซึ่งจะปรากฏดวงอาทิตย์ตกตรงช่องประตูเรียงกันตัดกับองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่กลางปราสาท จะปรากฏในช่วงเทศกาลเที่ยวพิมาย 6-10 พฤศจิกายน 2567 นี้ เป็นอีกหนึ่งอันซีนที่นักท่องเที่ยวถ้าได้มาเยือนปราสาทหินพิมายในช่วงเวลานี้ไม่ควรพลาด