ลำปาง - ย้าย “สีดอขุนเดช” ออกจาก Elephant Nature Park แม่แตง เชียงใหม่ เข้ารักษาสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ เรียบร้อย จนท.ห้ามผู้สื่อทำข่าว-ถ่ายภาพ ขอลบภาพทิ้ง ก่อนให้สัตวแพทย์ออกมาแจ้งอาการ เผยต้องใช้เชือก-ล่ามโซ่ ฝึกความคุ้นเคยใหม่ ก่อนประเมิน-รักษา ที่อาจต้องใช้เวลา 10-20 ปี หรือตลอดชีวิต
วันนี้ (4 พ.ย.) เจ้าหน้าที่-ทีมสัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ หรือศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พร้อมด้วย จนท.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง อุทยานแห่งชาติดอยผาเมือง ได้นำ “สีดอขุนเดช” เดินทางจากปางช้าง ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มาถึงสถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ 12.00 น.เศษที่ผ่านมา
เมื่อมาถึงได้นำช้างผ่านบริเวณเครื่องชั่งน้ำหนัก บริเวณด้านหน้า รพ.ช้าง ก่อนที่จะนำเข้าไปยังสถานที่พักในป่าด้านหลังสถาบันคชบาลแห่งชาติ ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับกักโรคและเตรียมไว้สำหรับขุนเดชโดยเฉพาะ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้
สัตวแพทย์หญิง รัตนา สาริวงศ์จันทร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายช่วยเหลือและสวัสดิภาพสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ และ จนท.อีกหนึ่งนาย ได้เดินออกมาห้าม ไม่ให้ผู้สื่อข่าวทำการบันทึกภาพและห้ามทำข่าว ในพื้นที่ พร้อมขอให้ลบภาพที่ถ่ายไว้ โดยอ้างว่าทางหน่วยงานราชการ จะแถลงข่าวเองในภายหลัง ก่อนที่จะเชิญนักข่าวออกจากจุดที่เตรียมไว้สำหรับสีดอกขุนเดชทันที
ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นหลังจากลงรถก็ได้นำสีดอขุนเดชเข้าในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ ตอนแรกก็ตื่น แต่หลังจาก 2 ชั่วโมงผ่านไปก็เริ่มปรับตัว เริ่มกินอาหาร ซึ่งขุนเดชชอบกินกล้วย ก็กินกล้วย กินน้ำ และก็อาบน้ำให้
ซึ่งในระยะ 30 วันแรกจะเน้นเรื่องของการเฝ้าระวังโรคติดต่อ-ฝึกการทำความคุ้นเคยกับควาญด้วย โดยเบื้องต้นจัดควาญไว้ให้ 2-3 คน คอยอยู่เป็นเพื่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ จำกัดพื้นที่ก่อน โดยจะให้ช้างได้เรียนรู้คำสั่งคุ้นเคยเสียง กลิ่น ภาษาที่ควาญใช้กับช้าง เช่น การถอยหลัง การสร้างความคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันง่ายๆที่เตรียมไว้ หลักๆ คือการเดิน การกิน หาอาหาร
“ช่วงแรกต้องมีการส่งควาญจากที่อื่นมาช่วย เพราะควาญที่นี่ยังใหม่ เป็นช้างป่าด้วย พละกำลังมาก สัตวแพทย์ที่จะมาดูแลในช่วงแรกก็จะให้สัตวแพทย์อาวุโสมาคอยดูแลก่อน เรื่องการกินก็ต้องคอยดูแลตั้งแต่ดูว่ากินอาหารได้ไหม ขับถ่ายเป็นอย่างไร ปฎิเสธอาหารประเภทไหนบ้าง ซึ่งวันนี้ก็ให้กินกล้วยกับมะขามเปียก”
ส่วนการรักษา การสร้างความคุ้นเคยกับสัตวแพทย์ ขณะนี้สัตวแพทย์ก็ยังเข้าได้อยู่ แต่ก็คงต้องสร้างความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ควบคุม เพื่อให้สัตวแพทย์เข้าไปดูแลได้ละเอียดมากขึ้น อย่างที่ทราบคือ ขาหน้าซ้ายที่บาดเจ็บก็อาจจะต้องดูแลรักษาตามปกติไปก่อน เพื่อให้คุ้นเคยสถานที่กับอาหารให้มากกว่านี้ อาจจะใช้เวลาทั้งเดือน
หลังจากนั้นก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยประเมินเรื่องกระดูก มวลกล้ามเนื้อและวางแผนในการรักษา ลดการอักเสบที่มีการขยายใหญ่ของขาหน้าให้ได้ก่อน อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ต้องมีการล่ามโซ่ เพื่อควบคุม โดยใช้เชือก-โซ่บางจุด และมีการใช้คำสั่ง เพื่อให้คุ้นกับสำเนียงของควาญ คำพูด ให้รู้จักการสื่อสาร เพราะที่ผ่านมาได้รู้แค่บางส่วนเท่านั้น จึงทำให้การเข้าหาช้างได้ไม่มาก โดยภาพรวมถือว่า..ยังเด็กค่อยๆ ปรับตัวไปในอนาคตก็จะดีขึ้น เชื่อว่าธรรมชาติจะช่วยบำบัดได้ซึ่งก็ไม่ต่างกับคน
ประชาชนที่เป็นห่วงขุนเดช อยากบอกว่าทางศูนย์จะดูแลเป็นพิเศษ สถานที่ก็จะเน้นเป็นธรรมชาติมากที่สุดเพราะมาจากป่า ก็อยากให้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่สิ่งที่เขาสูญเสียไปคือการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จนทำให้การรักษาไม่ละเอียดมากนัก ก็จะทำให้ดีที่สุด อาจจะต้องใช้เวลา 10-20 ปี หรืออาจจะต้องรักษาตลอดชีวิต แต่สิ่งแรกคือต้องให้ช้างยอมรับก่อนถึงจะทำอย่างอื่นๆ ได้
สำหรับ “สีดอขุนเดช” เป็นช้างป่า เมื่อ ก.ย. 2555 ชาวบ้านพบสีดอขุนเดชขณะนั้น อายุประมาณ 2 ปี ถูกบ่วงแร้วดักสัตว์ของชาวบ้านที่จันทบุรี ที่ขาหน้าซ้ายพิการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ายไปรักษาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเข้าเขียว-เขาชมพู่ จ.ชลบุรี ต่อมาปี พ.ค. 2556 กรมอุทยานฯ ย้ายไปรักษาและฟื้นฟูที่โรงพยาสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) จนมีอาการดีขึ้นตามลำดับและช่วยเหลือตัวเองได้มาก แต่สัตวแพทย์ประเมินว่าความพิการจะทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติได้จึงต้องมีสถานที่พักฟื้นและมีสัตวแพทย์ดูแลสุขภาพ
ก.ย. 2557 ม.เกษตรฯรักษาจนอาการดีขึ้น แต่พิการอยู่ ได้ส่งคืนกรมอุทยานฯ จากนั้นมูลนิธิอนุรักษ้างและสิ่งแวดล้อม (ENP) ขอรับไปดูแล กรมอุทยานฯ อนุมัติ ย้ายสีดอขุนเดชไปที่ ENP เชียงใหม่
ก.พ. 2563 ได้มีการตรวจสุขภาพช้างพบมีการอักเสบเรื้อรัง มีหนองแมลงวัน กระดูกผิดรูป ช้างดุ รักษายาก
ก.พ. 2564 สีดอขุนเดชเจริญเติบโตขึ้น ขาเจ็บรับน้ำหนักมาก ดุร้าย ก้าวร้าว รักษายากขึ้น
มิ.ย. 2564 ได้มีการประเมินอาการพบว่าสีดอขุนเดชเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ ควรย้ายไปสถาบันคชบาลแห่งชาติ ลำปาง เนื่องจากอาจดุร้ายขึ้นอีก
ส.ค. 2564 ทีมสัตวแพทย์ได้ประเมินสุขภาพ ยังไม่ควรย้ายและให้รักษา-ติดตามอาการอยู่ที่เดิมต่อไป
พ.ค. 2565 สีดอขุนเดชตกมัน ก้าวร้าว ฮอร์โมนเพศสูงผิดปกติ ต้องให้ GNRH hormone ในการควบคุมช้าง ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 - ก.ค. 2565
ปัจจุบันช้างยังอยู่ที่ ENP กรมอุทยานฯ ได้เข้าประเมินสุขภาพ และประเมินให้ย้ายไปสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ในวันนี้