ตราด - เป็นเรื่อง! ประเด็น “เกาะกูดของใคร” กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน เตรียมจัดกิจกรรมปกป้องดินแดนเกาะกูด วันเสาร์ที่ 9 พ.ย.นี้ ขณะที่ นอภ.เกาะกูด ออกแถลงการณ์ยันเกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้กว่า 100 ปีก่อน วอนกลุ่มการเมืองจัดกิจกรรมพิจารณาให้รอบคอบหวั่นกระทบเศรษฐกิจในพื้นที่
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา รวมทั้งพื้นที่ อ.เกาะกูด ที่มีแนวโน้มบานปลาย หลังกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเริ่มมีความเคลื่อนไหวและได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องที่ไทยอาจต้องเสียผลประโยชน์ทางทะเล หากสุดท้ายรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน เพราะเกรงว่าพื้นที่ อ.เกาะกูด บางส่วนอาจต้องตกเป็นของประเทศกัมพูชา
และล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่า กลุ่มอาชีวะรักสถาบัน ยังเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อปกป้องดินแดนของเกาะกูด ในวันที่ 9 พ.ย.ที่จะถึงนี้นั้น
วันนี้ (2 พ.ย.) นายไพรัส สร้อยแสง ได้ออกแถลงการณ์วิงวอนให้กลุ่มผู้รักชาติ สื่อมวลชนที่เสนอข่าวเกี่ยวกับเกาะกูด ให้พิจารณาให้รอบคอบก่อนนำเสนอข่าวต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีใจความระบุว่า “ตามที่มีการปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนต่างๆ ซึ่งลงข้อความเกี่ยวข้องกับอำเภอเกาะกูด จ.ตราด ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ทับซ้อน การเสียดินแดนและข้อความอื่นๆ
และยังระบุอีกว่าที่ผ่านมา อำเภอเกาะกูด ได้เคยชี้แจงผ่านสื่อมวลชนแล้วหลายครั้งว่า อ.เกาะกูด เป็นดินแดนของประเทศไทยอย่างชัดเจนตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.125 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. ศ 48 (ค.ศ.1807) แต่ยังคงมีกลุ่มบุคคลผู้รักชาติพยายายามแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ถึงกับจะลงมาจัดกิจกรรมในพื้นที่ อ.เกาะกูด ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประชาชนบนเกาะกูดอย่างร้ายแรง
โดย อ. เกาะกูด เป็นอำเภอที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทางท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยนับพันล้านบาท
จึงขอวิงวอนกับกลุ่มผู้รักชาติที่เสนอข่าวเกี่ยวกับเกาะกูด ได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนนำเสนอ เพราะจะกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการค้านท่องเที่ยวของ อ.เกาะกูด โดยตรง”
นายอำเภอเกาะกูด ยังบอกอีกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาชาวเกาะกูดบอบช้ำจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มาแล้วอย่างรุนแรง จึงไม่อยากให้มีการกระทำอันใดที่จะทำให้เกาะกูดได้รับความเสียหายอีก
“ผมยืนยันว่า เกาะกูดและพื้นที่ทะเลรอบเกาะกูด เป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้กว่า 100 ปีแล้ว ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล หรือพื้นที่ทับซ้อนเป็นเรื่องของรัฐบาลและนักการเมือบที่ต้องรับผิดชอบและแก้ไข ผมเป็นข้าราชการไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ไม่อยากให้นักการเมืองหรือกลุ่มองค์กรใดมาเคลื่อนไหวใดๆ บนเกาะกูด และขอให้ทำกิจกรรมบนฝั่งน่าจะดีกว่า เนื่องจากเกาะกูดเป็นแหล่งท่องเที่ยว” นายอำเภอเกาะกูด กล่าว
ด้าน นายเดชาธร จันทร์อบ นายก อบต.เกาะกูด ในฐานะชาวเกาะกูดโดยกำเนิด เผยว่าตนเป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องของเกาะกูด และยังได้โพสต์ข้อความสะท้อนความรู้สึกของชาวเกาะกูด ที่มีความรักและหวงแหนแผ่นดินเกิด รวมทั้งไม่ต้องการให้ใคร หรือนักการเมืองกลุ่มใดใช้เกาะกูด เป็นเสมือนตัวประกัน และอ้างอิงในเรื่องทางการเมือง เนื่องจากมั่นใจว่า เกาะกูดเป็นของไทยโดยสมบูรณ์ตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสได้ทำไว้เมื่อกว่า 100 ปีก่อน
และยังยืนยันว่า เกาะกูดยังเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ตราด และประเทศไทย ที่มีชาวไทยอาศัยทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และยืนยันว่าจนถึงปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการเสียแผ่นดินเกาะกูดให้กัมพูชาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
นายก อบต.เกาะกูด ยังเผยถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนในทะเลที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวเกาะกูด สถานประกอบการ รวมถึงธุรกิจที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยวของเกาะกูด ซึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนที่จะต้องดำเนินการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป
“จากประเด็นดังกล่าวอาจมีผู้นำไปเชื่อมโยงเหตุผลทางการเมืองต่างๆ ที่มีทั้งเรื่องจริงบ้าง เท็จบ้าง จึงขอให้พี่น้องประชาชนชาวเกาะกูด รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ ช่วยกันตรวจสอบดูแลอย่าให้เหตุการณ์ดังกล่าวมากระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาะกูด รวมถึงการท่องเที่ยวของเกาะกูด และเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาแผ่นดินเกาะกูด ซึ่งเป็นของประเทศไทยต่อไป” นายก อบต.เกาะกูด กล่าว
ด้าน น.ส.สุพิชญ์ณัฏฐา รังเกตน์แก้ว ตัวแทนกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน เผยว่าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของพื้นที่เขตแดนของเกาะกูดที่ฝ่ายไทยและ จ.ตราด มองว่าเป็นพื้นที่ของ จ.ตราดและเป็นของไทยตามสนธิสัญญาของฝรั่งเศสนั้น ยังมีบางเรื่องที่ซับซ้อนและลึกซึ้งมากกว่าเพราะในพื้นที่ทางทะเล ฝ่ายกัมพูชาได้ขีดเส้นที่เลยเข้ามาในเกาะกูด ซึ่งไทยยังไม่มีการตอบโต้หรือเรียกร้องใดๆ อีกทั้งยังยอมรับและไม่คัดค้านฝั่งกัมพูชา โดยเชื่อว่าหากมีการต่อสู้กันอาจจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ได้
“กลุ่มของเราได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อปกป้องดินแดนของเกาะกูด ด้วยการจัดเวทีเพื่อให้ความรู้ในเรื่องนี้ ในวันเสาร์ที่ 9 พ.ย.นี้ เวลา 15.00 น. ณ ลานกิจกรรมสนามหลวง (ตรงข้าม ร.ร.อนุบาล) หน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งจะมีกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน และกลุ่มกระทิงแดงไทยพิทักษ์ ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับเกาะกูด ที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาศัยเกาะกูดปลุกปั่นสร้างความเข้าใจผิด สร้างความขัดแย้งไปสู่สถานการณ์วุ่นวายกับประเทศ และยืนยันว่าจะไม่เดินทางไปจัดกิจกรรมที่ อ.เกาะกูด แน่นอน” ตัวแทนกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน กล่าว
น.ส.สุพิชญ์ณัฏฐา ยังเผยถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่าจะเน้นรณรงค์ด้วยการแจกใบปลิวให้ชาวตราดเดินทางเข้าร่วมและทำกิจกรรมเพื่อผืนแผ่นดินไทยไม่ให้ใครมาเอาไป และให้ความรู้เรื่องเกาะกูด ที่ชาวเกาะกูดและชาวตราดยังไม่ได้รับรู้ ซึ่งข้อมูลที่จะนำเสนอมีความสำคัญต่อพี่น้องชาวไทยและชาวจังหวัดตราดมาก