ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ว่าฯโคราชควงทีมสาธารณสุข รุดศึกษาดูงาน “ตายดีวิถีพุทธ” ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่ากรรมฐานบ้านโนนสะอาด อ.โชคชัย ด้วยการหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาจรรโลงใจเพื่อสร้างความสุขและความพร้อมด้านจิตใจก่อนจากโลกไปอย่างสงบ เตรียมแผนรับสังคมผู้สูงอายุ ตามแนวทาง ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
วันนี้ (30 ต.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ดร.คมกริช ฤทธิ์บุรี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และนายธรรมทรรศ ทองสำโรง นายอำเภอโชคชัย ลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Buddhist Hospice Care Center) หรือ “ตายดีวิถีพุทธ” วัดป่ากรรมฐานบ้านโนนสะอาด ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครรราชสีมา เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางและวิธีการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายด้วยพุทธวิธี ที่พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด ได้ริเริ่มขึ้น โดยหวังนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาจรรโลงใจให้กับกลุ่มผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อสร้างความสุขและมีความพร้อมด้านจิตใจ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปด้วยดวงใจที่เปี่ยมธรรม
พร้อมกับได้นำเอาแนวบทกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” มาเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งหากได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตระหนักถึงวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องธรรมชาติแล้ว อาจเลือกที่จะเลี่ยงการรักษาด้วยการยื้อชีวิตไปวันๆ และต้องอยู่ด้วยความทรมานด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ มาเป็นการศึกษาธรรมเพื่อจรรโลงใจ ก่อนที่จะจากโลกนี้ไปอย่างสงบสุข
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้ตนและทีมงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาแนวทางการจัดการแนวคิดของการปฏิเสธการรักษาก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 และที่ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งนี้ ได้มีวิธีการต่างๆ ในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จผลได้เป็นอย่างดี มีผู้ป่วยระยะท้ายที่มาแสดงเจตจำนงตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 และร่วมกิจกรรมที่ศูนย์แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกคนต่างมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจอย่างมาก แม้ว่าจะปฏิเสธอาการเจ็บป่วยด้านร่างกายไม่ได้ก็ตาม แต่ด้วยการที่ได้เรียนรู้และซึมซับหลักธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้จิตใจได้คลายความวิตกกังวล และมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิตตามการรับรู้ด้านสภาพจิตใจ ที่ไม่ต้องไปทรมานจากการรักษาที่อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการยื้อชีวิต ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทุกคนสามารถเลือกได้โดยชอบตามหลักของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม วิธีการที่จะทำให้แนวคิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตราที่ 12 เป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มขึ้นในสังคมชาวโคราชต่อไปนั้น จะได้นำข้อมูลที่ได้ไปตกผลึกร่วมกัน เพื่อจะนำมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนขยายผลในสังคมต่อไปให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ เป็นยุคที่เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคร้ายแรง หมดทางรักษา และต้องเข้ารับการรักษาเป็นการยื้อชีวิต ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจได้รับความทรมานเพิ่มมากขึ้น
และตอนนี้ หลายคนยังไม่รู้ว่ามีระเบียบกฎหมายที่ให้สิทธิแสดงเจตจำนงที่จะไม่ขอรับการรักษาที่ต้องทรมานได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นสิทธิโดยชอบของตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นการลดภาระให้กับลูกหลานที่คงไม่มีความสุขนักเมื่อต้องเห็นญาติผู้ใหญ่ที่รัก ต้องมาถูกพันธนาการ เจาะคอ หรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์รุมเร้าเพื่อยื้อชีวิต ซึ่งแนวทางที่ได้จะมีการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุข ศาสนา และกฎหมาย โดยคำนึงว่า แนวทางนี้ต้องเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ศูนย์ฯ แห่งนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ป่วยไม่ต้องมาทุกข์ทนทรมานทางกายมีความสุขทางใจ ญาติพี่น้องไม่ต้องทนเห็นคนที่รักต้องทรมานจากการรักษา ในขณะที่สังคมเองก็จะได้ประโยชน์ เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยเฉพาะกรณีขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักในระยะสุดท้ายที่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และยาที่มีคุณภาพสูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย ดังนั้น แนวทางนี้อาจจะเป็นทางออกให้กับสังคมไทยในยุคสังคมผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่ง