xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป)ภาพชักชวนพระร่วมลงทุนแชร์แครอทเป็นภาพเก่า เชื่อถึงวันนี้หากมีพระเสียท่าเสียเงินไปก็ไม่มาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี-มจร.อุบลฯ แจงภาพการอบรม Auto Trade ที่เผยแพร่ในโซเชียลเป็นหนึ่งในโครงการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพนิสิตและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประจำปีงบประมาณ 2561 จัดโดยศิษย์เก่า มจร.เพื่อเป็นแนวทางตัวเลือกแก่นิสิตที่จะประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา ซึ่งมีทั้งฆราวาส และสงฆ์เข้าร่วมฟัง แต่ไม่มีการร่วมลงทุนแต่อย่างใด


                           

จากกรณีที่โลกโซเชียลแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับ พระสงฆ์ถูกหลอกลงทุนเทรด "บ้านแชร์น้องแครอท ล้มแล้ว แชร์ลูกโซ่ของสงฆ์อีสาน ผู้เสียหายส่วนใหญ่คือพระสงฆ์เกือบทั้งหมด หลังหลอกพระสงฆ์ที่อยู่ในภาคอีสานเข้าร่วมลงทุนเทรดกับบริษัทขายฝันอ้างไม่เกิน 5 ปี ได้บ้าน ได้รถตอนนี้มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 1,000 ล้านบาท"

ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการระบุถึง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในสถานที่อบรมเล่นแชร์ดังกล่าว

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้เข้าสอบถามข้อเท็จจริงจาก พระครูพิมลสุตบัณฑิต ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี (มจร.อุบล) เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนิสิตและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประจำปีงบประมาณ 2561


ภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าเป็นเรื่องการ “เกษตรอินทรีย์ปลอดสารแบบยั่งยืนทางรอดของเกษตรกรไทยในศตวรรษที่21” โดย ดร.สมชาย ฐานเจริญ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษอุบลราชธานี ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “กระบวนทัศน์เชิงธุรกิจและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” บรรยายโดย ดร.ภานุวัชร ใจมั่น ประธานบริหารบริษัท เอ.อี.ซี. เวิร์ล จำกัด เป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้แก่นิสิตที่เข้าร่วมอบรม ณ ศาลาปฏิบัติธรรม วิทยาเขตอุบลราชธานี

ซึ่งในหัวข้อที่ 2 เป็นหัวข้อที่ ศิษย์เก่าของทาง มจร.เอง เสนอให้ ดร.ภานุวัชร เข้ามาบรรยายให้แก่นิสิตฟัง ทั้งนี้ในการร่วมกิจกรรมมีนิสิตที่เป็นฆราวาส และสงฆ์ รวมอยู่ด้วยประมาณ 20-30 คน ในหัวข้อนี้ไม่ได้มีการชักชวนให้มีการลงทุนแต่อย่างใด เป็นเพียงแนวทางในการสร้างอาชีพ หากนิสิตคนใดอยากประกอบอาชีพหลังจากลาสิขา หรือจบการศึกษาไปแล้ว


พระครูพิมลสุตบัณฑิต ยังเปิดเผยอีกว่า เรื่องของการชักชวนลงทุนก่อนหน้าจะเป็นข่าวก็ทราบมาบ้าง แต่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นการชักชวนญาติโยมไปร่วมลงทุน เริ่มต้นประมาณ 2,000 บาท และก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากถามว่าพระสงฆ์มีหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่ามี แต่น้อย รายละไม่กี่พันบาทแล้วก็เงียบหายไป ส่วนประเด็นล่าสุดตอนนี้ยังไม่พบผู้เสียหายหรือมีรายงานมาในวิทยาลัย หากเป็นสงฆ์รุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรม ตอนนี้น่าจะลาสิขาหมดแล้ว ผลกระทบตอนนี้ยังไม่มี


ด้านพระมหาอุดมศักดิ์ อายุ 36 ปี นักวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานีหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมอบรมในวันดังกล่าว เล่าว่า โครงการที่จัดครั้งนั้น เป็นโครงการที่ให้นิสิตของวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ซึ่งมีทั้งนิสิตที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์ ที่เรียนร่วมกันเข้าร่วมฟัง

โดยภาคบ่ายก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยีว่าอนาคตจะหาเงินได้จากที่ไหนบ้าง เราก็รับฟังสิ่งไหนที่ดีก็รับฟัง สิ่งไหนไม่ดีก็ไม่ได้สนใจ แต่วันนั้นไม่ได้มีการชักชวนในการลงทุนแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่เสียหายก็จะเป็นในรูปของการที่มีโยมไปตามวัดชวนพระมาลงทุนมากกว่า เช่นจะมีกลุ่มบริษัทชักชวนโยมมาร่วมลงทุน ขณะที่โยมก็รู้จักกับพระ ก็จะไปชวนพระร่วมลงทุนต่อ หากครูบาอาจารย์วัดไหนมีพระหนุ่ม มีลูกศิษย์ที่รู้ทัน ก็จะห้ามได้ทัน แต่บางรูปไม่รู้ก็เสียท่าไป เท่าที่ทราบมีไม่มาก


กำลังโหลดความคิดเห็น