ศูนย์ข่าวศรีราชา - เจ้าท่าแปดริ้วยันอุบัติเหตุเรือลากจูงบรรทุกสินค้าพุ่งชนเสาตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ไม่กระทบการสัญจรทั้งทางน้ำและทางบก หลังมีการเสนอข่าวหลีกเลี่ยงการใช้สะพานทำสังคมสับสน เผยจุดถูกชนทำหน้าที่แค่รับน้ำหนักไหล่สะพาน ไม่มีผลด้านความปลอดภัย
จากอุบัติเหตุเรือโยงลากเรือโป๊ะชนเสาตอม่อสะพานชำรุด ขณะลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ช่วงถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) กม.50+500 ช่องคู่ขนานมุ่งหน้าชลบุรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนเรื่องใช้ความระมัดระวังการเดินเรือผ่านสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง
ส่วน นายมังกร ยี่หร่า รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา เผยถึงความเสียหายของตอม่อสะพานเบื้องต้นว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เส้นทางจราจร รวมถึงตัวโครงสร้างของสะพาน ขณะที่สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงมี 3 เลน และได้ปิดการจราจรบนสะพานเลนซ้ายสุดเท่านั้น และยังได้เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่างบนสะพานและถนนทางด่วนช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันอันตรายนั้น
วันนี้ (21 ต.ค.) นายวิระฉัตร ลีละกุล ผู้อำนวยการ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ได้ออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์เรือลากจูงบรรทุกสินค้าพุ่งชนเสาตอม่อสะพาน เป็นการชนบริเวณเสาค้ำนอกสุดด้านฝั่งขาออกไปยัง จ.ชลบุรี ซึ่งประชาชนยังสามารถใช้การสัญจรบนสะพานได้ตามปกติ เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดช่องทางที่ชิดกับขอบไหล่ทางไว้ 1 ช่องทางเท่านั้นจึงไม่สูญเสียเส้นทางการสัญจร
เนื่องจากทางคู่ขนาน ถ.เทพรัตน (บางนา-ตราด) มีช่องทางจราจรเพียง 2 ช่องทางและช่องทางหลักอีก 2 ช่องทางรวม 4 ช่องจราจร แต่บนสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงมี 3 ช่องจราจรในทางคู่ขนาน เมื่อถูกปิดไป 1 ช่อง ทางที่ด้านบนสะพานยังคงเหลือเส้นทางการสัญจรพอดีกับการสัญจรของถนนคู่ขนานโดยที่ไม่สูญเสียช่องทางการเดินทางแต่อย่างใด
อีกทั้งเสาที่ถูกเรือกระแทกจนได้รับความเสียหาย เป็นเพียงเสาค้ำและไม่ใช่เสาที่รับน้ำหนักของสะพาน ตามที่ได้ฟังจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของแขวงทางหลวง ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน
ผู้อำนวยการ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ยังเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ขับเรือ ว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนคนขับเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าอีกประมาณ 3-4 วันจึงจะทราบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่แน่ชัดซึ่งเป็นคนละประเด็นกันกับเรื่องของการชดใช้ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นที่เป็นเรื่องทางแพ่ง
ขณะที่การซ่อมแซมสะพานเป็นการดำเนินงานที่อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งกรมเจ้าหน้าจะทำหน้าที่เอาผิดทางกฎหมายกับผู้ขับเรือ เช่น การตรวจสอบผู้ขับเรือว่ามีใบอนุญาตหรือใบขับขี่ซึ่งคล้ายกับการขับรถหรือไม่ จากนั้นจึงจะพิจารณาฐานความผิดส่งไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี
และยังยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบการขนส่งทางน้ำในขณะนี้ และเรือยังสามารถเดินทางขนถ่ายสินค้ารอดใต้สะพานได้ตามปกติ