xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) “อ.เฉลิมชัย” ชี้ป่าหดดอยหาย-มรสุมเข้า อ่วมอีกทุกปี นำศิลปิน-นักวิชาการทำ “จดหมายเหตุน้ำท่วมใหญ่เชียงราย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ศิลปินขัวศิลปะ-นักวิชาการจับมือจัดนิทรรศการสะท้อนความทุกข์ยากสุดขื่นขม-ทำ "จดหมายเหตุน้ำท่วมเชียงราย"..เปิดเวทีเสวนานำร่อง สาวอดีตพบร่องรอยย้ายบ้านย้ายเมืองหนีน้ำมาก่อน “อ.เฉลิมชัย” ชี้วันนี้ป่าหดดอยหาย หวั่นอนาคตมรสุมเข้าเสี่ยงเกิดน้ำท่วมทุกปี



สมาคมขัวศิลปะ จ.เชียงราย ร่วมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้จัดนิทรรศการจดหมายเหตุฉบับประชาชน จัดแสดงผลงานเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ห้วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2567 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CCAM) ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.-19 ธ.ค. 2567

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ได้นำประติมากรรม "Angel of Maesai" ที่เคยอยู่หน้าด่านพรมแดน อ.แม่สาย มาตั้งไว้ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรม "กำลังใจ" ซึ่งอาจารย์นักปราชญ์ อุทธโยธา นำขยะและของใช้ต่างๆ ที่มากับน้ำท่วมมาทำเป็นคนยืนถือข้าวโพด เนื่องจากเชื่อว่าการทำไร่ข้าวโพดเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดน้ำท่วม รวมถึงประติมากรรม "โลก" โดยอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ที่นำดินจากแหล่งน้ำท่วมต่างๆ ทั้งที่ อ.เทิง อ.เมืองเชียงราย อ.แม่สาย อ.เวียงแก่น ฯลฯ มารังสรรค์ผลงาน

ส่วนภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ชั้น 2-3 จัดแสดงภาพวาด ภาพถ่าย ประติมากรรม ตุ๊กตาที่เก็บได้จากแหล่งน้ำท่วมต่างๆ ชื่อ "หมีเกย" ฯลฯ รวมทั้งจัดเสวนาถอดบทเรียนเพื่อจัดทำจดหมายเหตุน้ำท่วมเชียงรายดังกล่าว โดยมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคือ ดร.พลวัฌ ประพัฒน์ทอง ดร.สืบสกุล กิจนุกร, อาจารย์อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ ร่วมเวที

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า งานจัดแสดงศิลปะนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากและสลดใจจากเหตุการณ์น้ำท่วม สีของภาพวาดใบใหญ่ที่ศิลปินร่วมกันวาดขึ้นก็เป็นโทนสีน้ำตาล มีการบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ เอาไว้ให้คนภายนอกที่อาจไม่ได้เห็นเหตุการณ์จริงได้ดู


สำหรับปัญหาน้ำท่วมนั้นตนในฐานะคนชื่นชอบขับขี่จักรยานยนต์ไปตามขุนเขาต่างๆ ได้พบความเปลี่ยนแปลงว่ามีการขุดถางป่าและทำถนนไปเรื่อยๆ จนต้องหนีไปขี่รถเขาลูกอื่นๆ กระทั่งปัจจุบันขุนเขาถูกตัดถางและทำถนนไปหมดแล้ว แม้แต่ร่องน้ำก็สูญเสียไปหมด

“ยามหน้าแล้งก็แห้งแล้ง-ฤดูฝนน้ำก็ไหลแรง เมื่อฝนตกหนักและพายุเข้าไทยหลายลูกน้ำก็ท่วมไม่รอดแน่นอน ทั้งมีดินโคลนปะปนมากับน้ำครึ่งต่อครึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนัก อนาคตจึงน่าเป็นห่วง เพราะถ้าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีมรสุมเข้ามาทุกปีจะทำอย่างไรกันดี ดังนั้นการจัดนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้คนได้รู้จักสถานการณ์”

ด้าน ดร.สืบสกุลระบุว่า ช่วงเกิดเหตุนำแรงงานออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เห็นตุ๊กตาหมีจมโคลน ถูกทิ้ง บางตัวคนนำไปวางบนรั้ว ฯลฯ น่ารันทดใจจึงได้เก็บสะสมตุ๊กตาหมีตั้งชื่อว่า "หมีเกย" นำมาทำความสะอาด เพราะคิดว่าเจ้าของเขาก็คงจะดูแลอย่างดีเพียงแต่พาหนีน้ำไปไม่ทัน จากนั้นนำมาจัดแสดงในนิทรรศการดังกล่าว หากเจ้าของมาเห็นก็ขอคืนได้ แต่หากไม่มีเจ้าของก็จะนำไปประมูลเพื่อนำเงินมาพัฒนา จ.เชียงราย ต่อไป


อาจารย์อภิชิตกล่าวว่า ตนได้รวบรวมหลักฐานภาพถ่ายน้ำท่วมในอดีตตั้งแต่ปี 2475 และศึกษาประวัติศาสตร์รวมถึงชื่อของสถานที่ต่างๆ พบว่ามีความเกี่ยวข้องกัน สามารถใช้เป็นข้อคิดได้เป็นอย่างดี เช่น จากการสืบค้นพบบริเวณค่ายเม็งรายมหาราชเป็นตัวเมืองเก่า มีดอยตอมทองเป็นศูนย์กลาง

ต่อมาแม่น้ำกกท่วมก็ย้ายเมืองเข้ามาชั้นในเหมือนการย้ายเมืองที่ จ.เชียงใหม่ เกิดชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุมชนน้ำลัด, กกโท้ง ซึ่งภาษาเหนือหมายถึงน้ำกกกระทุ้งเข้ามา, สันทรายใหม่, ร้องเสือเต้น ซึ่งอดีตคือ ร่องเสือเต้น ภาษาเหนือหมายถึงเหนือน้ำอ้อมมาข้างหลัง, เกาะลอย หรือแม้แต่ศูนย์ราชการจังหวัดในปัจจุบันก็อยู่ในพื้นที่ที่เป็นหนองน้ำเก่า เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาและใช้เป็นบทเรียนต่อการป้องกันน้ำท่วมโดยเฉพาะในปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน

ทั้งนี้ ดร.พลวัฌยืนยันบนเวทีเสวนาว่าจะร่วมกันทำจดหมายเหตุน้ำท่วมเชียงรายที่สมบูรณ์และสามารถสืบค้นหาข้อมูลด้วยระบบออนไลน์ได้ต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น