xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าฉะเชิงเทราเผยอุบัติเหตุเรือโยงลากเรือโป๊ะชนเสาตอม่อสะพานชำรุดขณะลอดแม่น้ำบางปะกงไม่เกี่ยวระดับน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ฉะเชิงเทรา​ -​ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา เผยอุบัติเหตุเรือโยงลากเรือโป๊ะชนเสาตอม่อสะพานชำรุดขณะลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงไม่เกี่ยวระดับความลึกของแม่น้ำตอนใน แม้ที่ผ่านมาจะพยายามขอยกระดับท้องสะพานให้สูงขึ้น แต่เป็นเพราะความเร่งรีบขับเรือไปรับสินค้า พร้อมออกประกาศแจ้งเตือนชาวเรือใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือผ่านสะพาน

จากอุบัติเหตุเรือโยงลากเรือโป๊ะชนเสาตอม่อสะพานชำรุดขณะลอดใต้สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ช่วงถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) กม.50+500 ช่องคู่ขนาน มุ่งหน้าชลบุรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทราได้ออกประกาศแจ้งเรื่องใช้ความระมัดระวังการเดินเรือผ่านสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง

และเมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) นายมังกร ยี่หร่า รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา ได้ออกมาเปิดเผยถึงความเสียหายของตอม่อสะพานเบื้องต้นว่า เสาตอม่อด้านนอกสุดที่ค้ำคานสะพานช่วงที่เป็นฟุตปาธและอยู่ในเลนซ้ายถูกชนจนหักเอน เห็นเหล็กโผล่ชัดเจน และขยับออกจากแนวคานสะพาน แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เส้นทางจราจร รวมถึงตัวโครงสร้างของสะพาน

โดยทางขนานปกติก่อนขึ้นสะพานที่มี 2 เลน หลังจากขึ้นสะพานจะมี 3 เลน และหลังจากลงสะพานแล้วจะเหลือ 2 เลนนั้น ขณะนี้ได้ปิดการจราจรบนสะพานเลนซ้ายสุด และใช้แบริเออร์ชนิดบรรจุน้ำกั้นปิดไว้ เพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนและการเทน้ำหนักของรถบรรทุกที่ใช้เส้นทางดังกล่าว จึงจะเหลือ 2 ช่องทางในการสัญจร

และแขวงทางหลวงฉะเชิงเทราได้วางมาตรการความปลอดภัยในช่วงกลางคืน ด้วยการเพิ่มไฟฟ้าแสงสว่างบนสะพานและถนนทางด่วน เพื่อให้มองป้ายเตือนชัดเจน ซึ่งจากการประเมินการซ่อมแซม มูลค่าความเสียหายทั้งหมด เบื้องต้นได้ประสานกับทางศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 ปทุมธานี เข้ามาตรวจสอบความเสียหายโดยได้ให้ความเห็นว่าไม่เป็นอันตรายนั้น


ล่าสุด นายวิระฉัตร ลีละกุล ผู้อำนวยการ​ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ได้ออกมาเปิดเผยถึงปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางน้ำในลำน้ำบางปะกง ว่า ลักษณะของน้ำในแม่น้ำบางปะกงไม่ได้เต็มตลิ่งอยู่ตลอดทั้งวัน และจะมีระดับน้ำขึ้นลงสลับกันรวม 4 ครั้งในหนึ่งวัน อีกทั้งระดับความลึกของแม่น้ำบางปะกงตอนในไม่เป็นปัญหาในการขนส่ง

แต่ความลึกที่เป็นปัญหาอยู่ที่ปากแม่น้ำใกล้จะออกทะเลปากอ่าว เนื่องจากมีสภาพเป็นแหล่งกักเก็บตะกอน ซึ่งถือเป็นปกติของร่องน้ำชายฝั่งตามธรรมชาติ

ขณะที่แผนที่ร่องน้ำที่ กรมเจ้าท่า ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่สะพานเทพหัสดิน ถนนสาย 34 หรือบางนา-ตราด ออกสู่ทะเล ระยะทางประมาณ 23.5 กิโลเมตร จึงทำให้ท่าเรือที่ตั้งอยู่ในโซนใต้สะพานเทพหัสดินไปจนถึงปากอ่าวไม่มีปัญหาในการเดินเรือมากนัก

แต่จะเป็นปัญหาและอุปสรรคกับท่าเรือที่ต้องลอดใต้สะพานเข้ามาด้านใน ซึ่งมีอยู่จำนวน 3 ท่า โดยท่าเรือสุดท้ายอยู่ลึกเข้ามาจนใกล้ถึงที่ว่าการ อ.บ้านโพธิ์

"ขณะที่สะพานเทพหัสดิน เป็นสะพานที่กำหนดขนาดของเรือทั้งในเรื่องของช่องลอดหรือความกว้างของตอม่อ และความสูงของท้องสะพานกับระดับน้ำ แต่สิ่งที่เกิดกับสะพานบ่อยครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์​เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำให้ภาคการขนส่งทางน้ำที่ต้องลอดสะพานนั้นหยุดนิ่งไป ทำให้กรมเจ้าท่าต้องมีการศึกษาเรื่องการขุดร่องน้ำตั้งแต่สะพานออกไปยังร่องนอกระยะทาง 23.5 กิโลเมตร และทำการศึกษากันแบบทั้งระบบ"


เนื่องจากในอดีตที่ กรมเจ้าท่าเคยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการขุดร่องน้ำแบบเป็นท่อนๆ ระยะ 1,500 เมตร-​1 กิโลเมตร จึงทำให้การขุดลอกทำได้ไม่ต่อเนื่อง และเมื่อขุดเลยไปแล้วตะกอนยังกลับมาทับถมตามหลังให้ตื้นเขินเช่นเดิม ในวันนี้การศึกษาและออกแบบร่องน้ำจึงกำหนดให้ก้นร่องกว้างขึ้นประมาณ 130 เมตร และมีความลึกที่ 6 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด และจะมีปริมาณคิวดินที่ต้องขุดออกประมาณ 7-8 ล้านคิว

"ในปี 2567 เจ้าท่าฉะเชิงเทราได้รับเงินงบประมาณขุดลอกร่องน้ำจำนวน 1 ล้านคิว ซึ่งยังไม่ต่อเนื่องกันอีก ขณะที่กลางลำน้ำบางปะกงที่ไล่ระดับสูงขึ้นมาสะพานถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง (พระยาศรีสุนทรโวหาร) ที่ อ.บ้านโพธิ์ และที่ตัวเมืองฉะเชิงเทราอีก 2 สะพานผ่านสะพานทางรถไฟอีก 1 สะพานไปจนถึงตัวเขื่อนทดน้ำบางปะกง และไปจนถึงตัว จ.ปราจีนบุรี ขึ้นไปสูงสุดถึงหน้าเรือนจำกบินทร์บุรี เป็นจุดรวมของลำน้ำจากแควสาขาต่างๆ ระยะทางประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร ขณะที่ลำน้ำทางตอนบนจะแคบลง แต่ยังมีศักยภาพในการเดินเรือได้ในระดับหนึ่ง"

ส่วนกรณีที่แม่น้ำบางปะกง ไม่ได้ทำการขุดลอกในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเพราะแทบไม่มีผู้ประกอบการใช้เส้นทางขนส่งทางน้ำ เนื่องจากมีการหันไปใช้ระบบล้อยางเข้ามาทดแทน และกรมเจ้าท่าได้พยายามที่จะนำเสนอให้มีการยกระดับท้องสะพานสูงขึ้นอีก รวมถึงระยะห่างของฐานตอม่อให้กว้างมากขึ้นเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะได้รับคำตอบว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

"กรณีเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อนน่าจะเกี่ยวข้องกับการเร่งรีบไปรับสินค้า เนื่องจากเป็นเรือเปล่าจึงมีการสูบน้ำใส่ลำเรือเพื่อกดให้ตัวเรือจมหรือต่ำลงจากท้องสะพาน เพื่อที่จะลอดใต้สะพานออกไป จึงเป็นสาเหตุของการชน" ผผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น