xs
xsm
sm
md
lg

วัดป่าโนนสะอาดเตรียมผุดโรงพยาบาลตายดี (วิถีพุทธ) แห่งแรกของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - วัดป่าโนนสะอาดเตรียมผุดโรงพยาบาลตายดี (วิถีพุทธ) มุ่งขับเคลื่อนการตายดีวิถีพุทธให้เป็นรูปธรรม วางกรอบผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะท้ายฟังธรรมะ สนทนาธรรม ให้มีสติไม่หลงตาย จิตไม่เศร้าหมอง นำไปสู่การตายดีวิถีพุทธ ตามหลักพุทธศาสนา

พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด ในฐานะประธานศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
ที่วัดป่าโนนสะอาด ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Buddhist Hospice Care Center) ได้จัดการประชุมเสวนาเชิงปฏิบัติธรรม โครงการขับเคลื่อนนวัตกรรม “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ต้นแบบ “การตายดีวิถีพุทธ” สู่เวทีโลก เนื่องใน “วันการดูแลแบบประคับประคองสากล” (World Hospice and Palliative Care Day) ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง สนับสนุนการพัฒนาบริการด้าน Hospice และเพิ่มการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองทั่วโลก

มีพระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด ผู้ก่อตั้งและประธานศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ทั้งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น เภสัชภร สายชล พิมพ์เกาะ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตสุขภาพที่ 9, นายแพทย์ สุผล ตติยนันพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และ ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมเสวนา เพื่อช่วยกำหนดทิศทางการผลักดัน ให้แนวคิด

ตลอดจนหลักการวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบตายดีวิถีพุทธให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับโลก โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์-ศิลาธรรม เตรียมจัดสร้างอาคารศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย “สุคติพุทธวิมาน” ไว้เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องการเข้ามารับการดูแลตามแนวทางของศูนย์ฯ

พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด ในฐานะประธานศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่าโครงการ “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” คือนวัตกรรมต้นแบบ “การตายดีวิถีพุทธ” ที่จะขับเคลื่อนสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต และการตายดีวิถีพุทธให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยวิธีให้ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะท้ายได้ฟังธรรมะ สนทนาธรรม แล้วนำธรรมะมาบอกเล่าผ่านรายการวิทยุและสื่อต่างๆ

ส่งผลให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย จากสภาพผู้ป่วยที่นอนรอความตายอย่างไร้ค่า ได้กลับพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญคือ มีสติไม่หลงตาย จิตจึงไม่เศร้าหมอง นำไปสู่ “การตายดีวิถีพุทธ” ตามหลักพุทธศาสนาที่ว่า “จิตเต อะสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา” แปลว่า “จิตที่ไม่มีกิเลสเศร้าหมองสุคติเป็นที่หวังได้” อันจะเกิดประโยชน์ทั้งในวงการแพทย์ ครอบครัว ชุมชน สังคม  ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา




ขณะเดียวกัน “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ไม่ต้องรอให้เสียชีวิตเหมือนอาจารย์ใหญ่ทางการแพทย์ แต่สามารถเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาตามกฎหมาย มาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยบัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”

ที่สำคัญคือต้องการ ตายดีวิถีพุทธ ด้วยกระบวนการฝึกสติ ทั้งทางโลกและทางพุทธธรรมอย่างสมดุล ในการดูแลจิตวิญญาณไม่ให้เศร้าหมองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณค่า สง่างาม และจากไปอย่างสงบสู่สุคติ

การเสวนาครั้งนี้เพื่อร่วมกันหาแนวทางเรื่อง “การตายดีวิถีพุทธ” นี้ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับเวทีโลก ที่ผ่านมาเริ่มมีหน่วยงานหลายประเทศให้ความสนใจ และต้องการเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนเอง เช่นกลุ่มนักศึกษาของสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ที่ต้องการจะเข้ามาทำการวิจัยเกี่ยวกับโครงการนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี จะนำพาโครงการนี้ให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลกต่อไป




ล่าสุดทางศูนย์ฯ ยังได้เตรียมจะจัดสร้างอาคารศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย “สุคติพุทธวิมาน” เพื่อไว้รองรับกลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องการเข้ามารับการดูแลตามแนวทางของศูนย์ฯ ในอนาคต จำนวน 4 อาคาร โดยจะใช้ชื่อตามอริยสัจ 4 คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ โดยได้วางศิลาฤกษ์แล้วในวันนี้

ถือเป็นการวางศิลาฤกษ์อริยสัจ 4 ที่ไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้ว คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 2,000 คน และต่อไปจะกลายเป็นศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างครบวงจรแห่งแรกของไทยและของโลก หรืออาจเรียกว่า เป็นโรงพยาบาลตายดี (วิถีพุทธ)


กำลังโหลดความคิดเห็น