xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนโอดน้ำท่วมสวนกล้วยเสียหายทั้งหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - น้ำท่วมกระทบเกษตรกรปลูกกล้วยหอม ชุมชนบ้านกุ่ม น้ำท่วมเสียหายทั้งหมด ศาลเจ้าเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชนก็ท่วม

วันนี้ (14 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำท้ายเขื่อน 1,902 ลบ.ม./วินาที จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังคงได้รับผลกระทบน้ำท่วมใน 7 อำเภอ คือ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะหัน รวม 103 ตำบล 613 หมู่บ้าน 30,223 ครัวเรือน วัด 29 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง โรงเรียน 21 แห่ง (เป็นศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง) สถานที่ราชการ 5 แห่ง ถนนภายในหมู่บ้าน 26 สาย

ทั้งนี้ พื้นที่เกษตรอำเภอบางบาลได้รับผลกระทบ 11 ตำบลรวมพื้นที่การเกษตรประสบภัย จำนวน 180 ไร่ เกษตรกร 209 ราย แบ่งเป็นพืชผัก/พืชไร่ จำนวน 29.5 ไร่ ไม้ผล/ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 152.01 ไร่ ผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร อย่างเช่นในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับผลกระทบกับการปลูกกล้วยหอม จำนวนมาก
              
ผู้สื่อข่าวพบกับ นายอุบล หาปทุม อายุ 80 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมพาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจกล้วยหอมที่ปลูกไว้ในสวนของตนกว่า 300 ต้น ที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร รวมถึงสวนต่างๆ นับพันต้นของเกษตรกร สวนกล้วยหอมรายอื่นๆ ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน
              
นายอุบล เปิดเผยว่า น้ำท่วมหมดแม้ตอนนี้ลดบ้างเล็กน้อย แต่ยังลำบากเข้าออกต้องใช้เรือ มาตอนนี้ต้องเดินลุยน้ำมาขึ้นเรือ เพราะทางเข้าออกน้ำท่วมต้องใช้เรือทั้งหมดในชุมชน ลำบากมาก ทั้งหมู่ที่ 1, 2, 3 น้ำท่วมทุกปี อยู่ที่ว่าจะท่วมน้อยท่วมมาก 
              
ส่วนเรื่องกล้วยหอมอยากให้ช่วยเหลือเพราะตอนแจ้งแจ้งไม่ทัน เพราะทุกปีน้ำท่วมถ่ายรูปสวนกล้วยที่เสียหายแล้วไปส่งกัน มาตอนนี้เขาบอกไม่ได้แล้วต้องถ่ายก่อนตอนน้ำยังไม่ท่วม อยากให้ลงมาช่วยเหลือในส่วนนี้ ส่วนความเสียหายคิดเป็นเครือละ 200 บาท ถ้า 300 ต้น อาจจะได้ผลผลิตไม่ทุกต้นแต่เสียหายไปแล้วหลายหมื่นบาท พอน้ำลงจะปลูกใหม่ต้องลงทุนหาซื้อพันธุ์กล้วยมาปลูกใหม่อีก
              
พร้อมพาผู้สื่อข่าวไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหนู ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับชาวบ้านกุ่มมาอย่างยาวนาน 2-3 ชั่วอายุคนแล้ว เป็นศาลเก่าแก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ซึ่งชาวบ้านช่วยกันดูแล ช่วยกันบูรณะให้สูงขึ้นแต่ไม่พ้น น้ำยังท่วมสูง รวมถึงศาลเจ้าแม่ต้องช่วยกันนำชุดไปแขวนไว้ ส่วนตู้ต้องปล่อยจม เดี๋ยวพอน้ำลดชาวบ้านจะช่วยกันมาดูแลซ่อมแซมบูรณะกันอีกครั้ง 










กำลังโหลดความคิดเห็น