xs
xsm
sm
md
lg

ประมง-NGO-ท้องถิ่น จับมือตั้งเขตอนุรักษ์น้ำโขงครั้งแรก หลังระบบนิเวศเปลี่ยน-พันธุ์ปลาลดฮวบ 3 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย – องค์กรภาคีรัฐ-เอกชน ทั้งประมงจังหวัดฯ-NGO-องค์กรท้องถิ่น จับมือประกาศเขตอนุรักษ์น้ำโขงครั้งแรกรอบ 29 ปี หลังการพัฒนา-ก่อสร้างสารพัดโครงการ ทำระบบนิเวศน์เปลี่ยน พันธุ์ปลาลดฮวบกว่า 3 เท่าตัว กระทบวิถีคนริมโขงตลอดแนว


นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมง จ.เชียงราย นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ นายกฤศ โพธสุธน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย และนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ริมโขง เครือข่ายสภาประชาชนทั้งลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำกก แม่น้ำอิง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเปิดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา-สืบชะตาแม่น้ำโขง ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว หมู่บ้านดอนที่ หมู่ 3 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สุดสัปดาห์นี้

พร้อมประกาศแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงในเขต จ.เชียงราย กำหนดพื้นที่แนวเขตเป็นระยะทางยาว 100 เมตรแนวกันชนด้านละ 100 เมตร รวมเป็นประมาณ 300 เมตร เพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ และทำการเพาะพันธุ์หรือฟื้นฟูให้มีพันธุ์ปลามากขึ้น ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมมือจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นในแม่น้ำโขง โดยมีการติดตั้งป้ายประกาศเป็นพื้นที่ศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือปลาฝา รวมทั้งปล่อยพันธุ์ปลากาดำหรือปลาเพี้ยลงบริเวณริมฝั่งหมู่บ้านดอนที่ ประมาณ 250,000 ตัว


นายสมเกียรติ กล่าวว่ามีแผนจะเปิดเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำโขงในเชียงรายอีก 2 แห่ง คือบ้านห้วยลึก ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น และบ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียง อ.เชียงแสน เพื่อร่วมฟื้นฟูพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงที่หายไป เพราะสถานการณ์แม่น้ำโขงในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่มีการพัฒนา ทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อรวมกับสภาวะอากาศโลกยิ่งทำให้มีผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ที่มีผลมากที่สุดคือปริมาณพันธุ์ปลาที่ลดลง

ทั้งนี้แม่น้ำโขงมีความยาว 4,909 กิโลเมตร เคยมีการสำรวจเอาไว้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน พบพันธุ์ปลากว่า 1,245 ชนิด ในส่วนของประเทศไทยเคยมีกว่า 500 ชนิด ณ ขณะนี้ลดลงและที่จับได้ก็น้อย ขณะที่แม่น้ำโขงแถบ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เคยมีกว่า 200 กว่าชนิด แต่ปัจจุบันจากศึกษาวิจัยพบเหลือเพียง 72 ชนิดเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านริมโขงมาก จึงจำเป็นต้องมีเขตอนุรักษ์และให้มีแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ รวมถึงมีการพัฒนาการเพาะพันธุ์ด้วย

ด้านนายณัฐรัฐ กล่าวว่านับเป็นเรื่องดีที่เครือข่ายในหลายแม่น้ำเข้าร่วม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ปลาหลายชนิดหายไปและหลายชนิดต้องมีการเพาะพันธุ์หรืออนุรักษ์ เช่น ปลากระเบน ฯลฯ ซึ่งยังโชคดีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันกำหนดเขตอนุรักษ์เอาไว้ดังกล่าว.




กำลังโหลดความคิดเห็น