เชียงราย – ศิลปินเตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะฯ บันทึกจดหมายเหตุ “น้ำท่วมใหญ่เชียงราย” ฉบับประชาชน ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย-ภาพวาด-คลิป-ตุ๊กตาหมีเกยที่ไหลไปตามน้ำตกค้างเกลื่อนเมือง พร้อมนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์เชื่อมโยงภูมิศาสตร์ หวังใช้เป็นบทเรียนหาทางแก้ไข
สมาคมขัวศิลปะ มีกำหนดจัดกิจกรรมถอดบทเรียนภัยพิบัติเชียงราย 2567 (Chiangrai Disaster Archives 2024) ขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CCAM) ถนนหอศิปล์ ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.-19 ธ.ค.2567 นี้ หลังจากเกิดภัยพิบัติใหญ่จากน้ำท่วมช่วงต้นเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
รูปแบบจะเป็นความร่วมมือระหว่างศิลปินกับหน่วยงาน นักวิชาการอิสระ ฯลฯ ที่จะร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติดังกล่าวกึ่งวิชาการและนิทรรศการศิลปะ เพื่อความเข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ประกอบด้วยการให้ความรู้เรื่องของธรณีวิทยาโดยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนผ่านการบันทึกภาพเคลื่อนไหวกรณีผู้ประสบภัยจำนวน 15 รายจากชุมชนต่างๆ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง , การฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยผ่านนิทรรศการ ‘ตุ๊กตาหมีเกย’ วาดหวัง ฟื้นฟู ชูใจ เจียงฮายบ้านเฮา โดยอาจารย์ ดร.สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และการให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เมืองเชียงรายกับความเชื่อมโยงถึงภูมิศาสตร์ทิศทางการไหลของแม่น้ำกก จากอดีตสู่ปัจจุบันมีความสำคัญเช่นไร โดยนายอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังมีการการรวบรวมภาพถ่ายจากทั้งศิลปินและสื่อประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ในรูปแบบนิทรรศการ "มหาอุทกภัยเชียงราย 2567 Chiang Rai Disaster Archives 2024" ซึ่งจะมีทั้งภาพวาด ภาพเขียน บันทึกวีดิโอ ฯลฯ ตลอดระยะเวลาทั้งหมด 2 เดือน จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกสู่กระบวนการของการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุฉบับประชาชนเพื่อเป็นบันทึกเหตุการณ์ภาคประชาชน เพื่อให้เป็นบทเรียนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต
อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ เปิดเผยว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CCAM) ยังได้เชิญศิลปินทั่วประเทศร่วมส่งผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ มหาอุทกภัยเชียงราย 2567 Chiang Rai Disaster Archives 2024 แบบไม่จำกัดเทคนิค วิธีการ ขนาด 30 X 30 เซนติเมตร (ไม่ใส่กรอบ) หรือหากต้องการส่งเป็นไฟล์ภาพมาล่วงหน้าผ่านช่องทางไลน์ขัวศิลปะตาม QR CODE ในเพจขัวศิลปะก็ได้ ซึ่งผลงานทั้งหมดจะถือเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลและสามารถนำไปถอดบทเรียนได้โดยจะถูกนำจัดแสดงตลอดระยะเวลากิจกรรมดังกล่าว
อาจารย์สืบสกุล เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้มีตุ๊กตาจำนวนมากที่ครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าของถูกน้ำพัดติดอยู่ตามจุดต่างๆ ตนและทีมงานจึงได้ตระเวนออกเก็บตุ๊กตาเหล่านี้เอาไว้แล้วนำส่งให้ศิลปินเชียงรายเพื่อนำไปออกแบบและจัดวางเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการดังกล่าว แต่หากเจ้าของเดิมของตุ๊กตาไปพบเจอภายในนิทรรศการก็สามารถรับคืนได้หรือหากประสงค์จะมอบให้นิทรรศการก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นจะเปิดประมูลเพื่อระดมเป็นทุนเพื่อการพัฒนาเมืองเชียงรายต่อไป.