ฉะเชิงเทรา - ชลประทานแปดริ้วไม่กังวลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีประมาณ 203.4 ล้าน ลบ.ม. เผยยังเหลือเวลาฤดูฝนอีก 20 วันซึ่งเป็นช่วงมรสุมเชื่อเติมน้ำเข้าอ่างได้อีกกว่า 60 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง
วันนี้ (9 ต.ค.) นายธานินทร์ เนื่องทดเทศ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา เผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดที่มีความจุสูงสุดที่ 420 ล้าน ลบ.ม. ว่าปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 203.4 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48.43 ของความจุ เนื่องจากหลังสิ้นฤดูฝนในปี 2566 ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำคลองสียัดมีปริมาณน้ำในอ่างแค่เพียง 160 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำให้เพียงพอต่อความต้องการได้
ขณะที่ในปี 2567 นี้ยังเหลือเวลาช่วงฤดูฝนอีกประมาณ 20 วัน ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่าจะสิ้นสุดในวันที่ 1 พ.ย. จึงยังพอมีเวลาเหลือที่จะมีน้ำไหลลงสู่ท้ายอ่างได้อีกวันละหลายล้าน ลบ.ม. และยังมีการคาดการณ์ในเบื้องต้นว่าน่าจะมีน้ำเข้าเติมในอ่างได้อีกไม่น้อยกว่า 60 ล้าน ลบ.ม.
“ตามสถิติของมวลน้ำที่จะไหลลงอ่างในแต่ละปี จะมีน้ำไหลลงท้ายอ่างมากในช่วงของเดือน ต.ค. เนื่องจากจะมีร่องมรสุมที่ทำให้มีฝนตกผ่านเข้ามา จึงคาดการณ์ว่าสุดท้ายเมื่อถึงช่วงปลายฤดูหรือสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ อ่างเก็บน้ำคลองสียัดจะมีปริมาณน้ำกักเก็บได้ประมาณ 260 ล้าน ลบม. โดยเป็นน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 230 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งใกล้เคียงกับความจุเดิมของอ่าง ก่อนที่จะมีการขยายขอบสันฝายยางสปิลเวย์ให้มีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 420 ล้าน ลบ.ม. ในปัจจุบัน”
ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา มั่นใจว่าในช่วงฤดูแล้งปี 2568 จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการทั้งด้านการอุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปา ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักของการรักษาระบบนิเวศและภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็มหนุน และการสนับสนุนในพื้นที่ด้านอื่นๆ ได้อย่างไม่ขาดแคลน
เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำจะเป็นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมที่มีการประชุมร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อวางตัวเลขและวางกรอบการบริหารจัดการน้ำร่วมกันว่าภาคส่วนไหนควรจะได้น้ำเท่าใด
ส่วนสาเหตุที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัดมีปริมาณน้ำไม่เต็มความจุและไม่มีน้ำล้นสันฝายสปิลเวย์มานานหลายปีนั้น เป็นเพราะอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง (Inflow) แค่เพียงประมาณ 260 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีเท่านั้น ส่วนการขยายเพิ่มความจุ กรมชลประทานได้มีแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำไว้เพื่อรองรับโครงการผันน้ำ และดึงน้ำจากพื้นที่โดยรอบทั้งจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึงในพื้นที่ จ.สระแก้ว ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 36 กิโลเมตร ตามที่ได้เริ่มมีการศึกษาดำเนินการไว้แล้ว
“เนื่องจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึง มีปริมาณฝนมากถึงปีละ 190-210 ล้าน ลบ.ม. แต่ความจุของอ่างสามารถกักเก็บได้เพียง 65 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น จึงทำให้มีน้ำส่วนเกินไหลล้นระบายลงไปในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง และเกิดอุทกภัยในตลาดเก่ากบินทร์บุรี และในตัว จ.ปราจีนบุรี แต่หากเราสามารถผันน้ำส่วนเกินจำนวนประมาณ 100-140 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัดได้ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนน้ำในภาคตะวันออก และบรรเทาปัญหาอุกภัย หรือน้ำท่วมใน จ.ปราจีนบุรีได้” ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าว