พระนครศรีอยุธยา - น้ำท่วมกระทบหลายอาชีพหยุดชะงัก แต่บางอาชีพต้องเดินหน้าต่อเลี้ยงปากท้อง คุณตาคุณยายสวนผักท่วมมารับจ้างเด็ดผักหารายได้เสริม ล่าสุดชาวบ้านได้รับแล้วผลกระทบแล้วจำนวน 7 อำเภอ 107 ตำบล
วันนี้ (6 ต.ค.) สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นวงกว้าง หลังจากล่าสุด มีการระบายลงท้ายเขื่อน 2,150 ลบ.ม./วินาที ประกอบมีมวลน้ำฝนที่ตกลงมาใต้เขื่อน ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนได้รับผลกระทบจำนวน 7 อำเภอ 96 ตำบล 545 หมู่บ้าน 23,497 ครัวเรือน อำเภอเสนา รวม 11 ตำบล 84 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 5,433 ครัวเรือน
อำเภอบางบาล รวม 16 ตำบล 102 หมู่บ้าน 4,666 ครัวเรือน อำเภอผักไห่ รวม 15 ตำบล 85 หมู่บ้าน 3,879 ครัวเรือน อำเภอบางไทร รวม 22 ตำบล 109 หมู่บ้าน 3,924 ครัวเรือน อำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 20 ตำบล 66 หมู่บ้าน 16 ชุมชน 2,274 ครัวเรือน อำเภอบางปะอิน รวม 11 ตำบล 78 หมู่บ้าน 3,211 ครัวเรือน อำเภอบางปะหัน รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน 110 ครัวเรือน วัด 14 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง โรงเรียน 21 แห่ง (เป็นศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง) สถานที่ราชการ 5 แห่ง ถนนภายในหมู่บ้าน 26 สาย
สถานการณ์น้ำท่วมในตอนนี้กระทบในหลายอย่างทั้งการเดินทางเข้าออกภายในชุมชนที่ถูกน้ำท่วม การทำงานหรือการประกอบอาชีพ ในชุมชนต้องหยุดชะงัก หรือบ้างส่วนต้องดิ้นรนสู้ต่อเพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว การเข้าออกจากบ้านยากลำบาก ต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะ บางส่วนต้องมาใช้ชีวิตรวมกันบนถนน หรือตามศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน เช่น ที่พื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบางหลวง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ศาลาอเนกประสงค์ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมถนน มีรถจักรยานยนต์จำนวนมากจอดเพื่อหนีน้ำท่วมภายในบ้านเรือนมาจอดไว้ และยังพบกลุ่มชาวบ้านชายหญิง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่กำลังเด็ดผัก ตัดผัก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
จากการสอบถาม นางอรวรรณ รุจิวรรณ อายุ 45 ปี เจ้าของผัก กล่าวว่า ตนมีอาชีพขายผักสดที่ตลาดเจ้าพรหม ในตัวเมืองอยุธยา ซึ่งตนปลูกผักซื้อผักชาวบ้านในพื้นที่ แต่มาตอนนี้น้ำท่วมหมดต้องขวนขวายไปหาซื้อผักที่ตลาดอ่างทอง ปกติรับซื้อชาวบ้านแถวนี้ แต่ถูกน้ำท่วมหมดต้องไปหามาทำส่งเข้าอีกที จะได้มีรายได้ เพราะถ้าหยุดไปก็ไม่มีรายได้ ซึ่งเราจ้างชาวบ้านในพื้นที่ คุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า มาเด็ดผัก ตัดผัก เพื่อเป็นรายได้เสริมให้พวกเขามีรายได้ เพราะปกติเขาปลูกผักกันจะนำผักมาขายให้เรา แต่มาตอนนี้สวนของพวกเขาถูกน้ำท่วมหมด รายได้หายไปด้วย
ด้าน น ส.รัชนี ผกามาศ อายุ 60 ปี ชาวบ้านที่มารับจ้างทำผัก กล่าวว่า ตนท่วมรอบ 2 มาเกือบเดือน ทำมาหากินอะไรไม่ได้ ตนมีสวนผักถูกน้ำท่วมหมด เลยมารับจ้างทำผักเพื่อมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จะเข้าออกไปทำที่บ้านก็ลำบาก ตอนนี้จะเข้าไปบ้านแค่ตอนนอนเพราะน้ำท่วมเข้าออกลำบาก ส่วนผัก กล้วย อ้อย ผักสวนครัวเราท่วมหมด เราต้องมารับจ้างเด็ด ไม่เช่นนั้นไม่มีรายได้
ทั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะหายรายได้ทำสวนพืชผักผลไม้ แต่ถูกน้ำท่วมหมด ส่วนหนุ่มสาวที่มีแรงจะทำงานประจำ แต่การเดินทางเข้าออกลำบากเพราะต้องใช้เรือหลังน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง