พระนครศรีอยุธยา - “นฤมล” ควง 2 รมช. อดีต รมว.เกษตร ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา มั่นใจ กทม.ปลอดภัย น้ำไม่ท่วม 100% ล่าสุดลุ่มเจ้าพระยามีการระบายน้ำทุ่งจำนวน 7 ทุ่ง 700,000 กว่าไร่ รับน้ำไปประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร
วันนี้ (5 ต.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยร้อยเอกธรรมมนัส พรหมเผ่า ส.ส.เขต 1 จังหวัดพะเยา ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
เพื่อรับฟังแนวทางการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน พื้นที่เศรษฐกิจ การบริหารการจัดการน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายนิวัติ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยนายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อํานวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รายงานการสถานการณ์ว่า พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานทั้งที่อยู่ในพื้นที่เกาะเมือง และนอกเกาะเมือง สำหรับโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ปัจจุบันแนวบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมยังสามารถรองรอบระดับน้ำ 2.50 เมตร จากการประเมินสถานการณ์หากระบายน้ำมาไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./ต่อวินาที จะปลอดภัย
ด้านนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวชี้แจงถึงการออกประกาศเตือนลุ่มเจ้าพระยาฉบับที่ 10 พื้นที่ 11 จังหวัด เตรียมรับมือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น หลังเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม ว่า การที่เราจะระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาทีนั้น จะต้องขออนุญาตคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จะทำโดยกรมชลประทานแห่งเดียวไม่ได้ ซึ่ง กนช.ได้อนุญาตเรียบร้อยแล้ว จึงต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อม โดยการระบายน้ำจะทำแบบขั้นบันได การระบายน้ำที่จะเกิดขึ้นอาจจะไม่ถึงระดับที่เราได้ขออนุญาต กนช.ไป แต่จำเป็นที่ต้องขอเผื่อไว้ล่วงหน้า เนื่องจากต้องขอล่วงหน้าก่อน 3 วัน จึงขอทำความเข้าใจไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก หรือวิตกกังวล
ส่วนสถานการณ์ที่เชียงใหม่ ตอนนี้ระดับน้ำทรงตัว เพราะฝนที่ตกมากกว่า 300 มิลลิเมตร น้ำท่วมครบทั้ง 7 โซนตามที่คาดไว้ เเต่น้ำที่ลงเขื่อนภูมิพล จะส่งผลดีต่อการทำนา เเต่ที่ยังห่วงเวลานี้คือ ลุ่มน้ำยม ที่ตอนนี้ยังคงผันเข้าทุ่งบางระกำจำนวนมาก และมวลน้ำยมจะมารวมกับน้ำน่าน ที่ชุมเเสง น้ำน่าน มารวมน้ำปิงที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งเเต่บ่ายวันนี้จะทยอยปรับระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม
หลังได้รับการอนุมัติจาก กอนช. ระบายน้ำแบบขั้นบันไดไม่เกิน 2,400 ลบ.ม.วินาที ส่วนดัชนีชี้วัดของ กทม. ดูที่สถานีบางไทร ซึ่งเวลานี้ยังรับน้ำได้อีก 30% หากไม่เกิน 3,500 ลบ.ม. กรุงเทพฯ จะปลอดภัย ยกเว้นหากมีพายุใหญ่เข้ามา ขณะเดียวกันข้อมูลเรื่องฝนในภาคผ่านภาคใต้ ฝนจะค่อยลดลงไป ซึ่งจะไปโฟกัสเป็นห่วงที่ภาคใต้ เพชรบุรี สำหรับมวลน้ำภาคเหนือจะระบายลงมาเรื่อยๆ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม ภายใน 2 สัปดาห์ จะระบายน้ำได้หมด
ส่วนในพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขณะนี้มีการระบายน้ำทุ่งจำนวน 7 ทุ่ง 700,000 กว่าไร่ สามารถรับน้ำประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการทยอยผันน้ำเข้าทุ่งไปบ้างแล้ว การระบายน้ำเข้าทุ่งจะต้องค่อยระบายเข้าไป ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในทุ่งนารับน้ำ รวมถึงถนนทางเข้าชุมชม ถนนสายหลัก และถนนสายรอง
ศ.ดร.นฤมล กล่าวภายหลังการติดตามสถานการณ์น้ำ ว่า จากที่ได้รับฟังสรุปสถานการณ์ในขณะนี้น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานคร เหมือนในปี 2554 แน่นอน เนื่องด้วยปริมาณน้ำและน้ำที่ยังเก็บกักได้เพิ่ม ตามที่รองอธิบดีกรมชลประทานรายงานข้อมูลมา แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประสานกับกรมชลประทานตลอด เพื่อเตรียมแผนระบายน้ำหากมีพายุและปริมาณน้ำฝนลงมาเพิ่มจำนวนมาก
รวมทั้งมีการจัดการสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำในคลองระบายน้ำต่างๆ ส่วนการชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งล่าสุด ได้ประเมินความเสียหาย และวางงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูทั้งหมดประมาณ 3,700 ล้านบาท และได้ส่งข้อมูลไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ในสัปดาห์หน้า โดยงบดังกล่าวจะนำมาใช้ในเรื่องของข้าว เช่น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่าย รวมทั้งช่วยเหลือภาคปศุสัตว์และประมงที่ได้รับความเสียหายด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ศ.ดร.นฤมล พร้อมด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ และคณะได้เดินทางต่อไปวัดอินทาราม ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งไปตรวจการผันน้ำเข้าทุ่งนารับน้ำ ที่ประตูระบายน้ำข้าวนึ่ง ปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำตานึ่ง ต.ทางช้าง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และเดินทางไปสถานีสูบน้ำปากคลองรังสิต ถ.เลียบคลองประปา ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี