xs
xsm
sm
md
lg

ไทยประท้วงพม่าขุดโคลนถมน้ำสาย อ้างเอกชนทำพร้อมขุดลอกให้ แต่แก้น้ำท่วมระยะยาวยังมืดมน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย – ไทยยื่นประท้วงพม่า ทั้งระดับท้องถิ่น-กระทรวงการต่างประเทศ..หลังพบแบ็คโฮตักดินโคลนน้ำท่วมถมลำน้ำสายฝั่งท่าขี้เหล็ก เสี่ยงกระทบเขตแดน-ทำน้ำท่วมซ้ำซาก ก่อนทางเมียนมาสั่งหยุด-อ้างเอกชนทำ ขณะที่แนวทางแก้ระยะยาวยังมืดมน


กรณีรถแบ็คโฮฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ขุดตักดินโคลนจากน้ำท่วมบ้านปงถุง จ.ท่าขี้เหล็ก ถมทิ้งลงลำน้ำสาย ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนไทย-เมียนมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 ที่ผ่านมานั้น

หลังเกิดเหตุ คณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา ส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ฝ่ายไทย ได้ยื่นประท้วงไปยัง TBC ฝ่ายเมียนมา ทันที่พบเห็น ก่อนที่ทางการเมียนมาจะสั่งให้รถแบ็คโฮคันดังกล่าวหยุดการขุดตักดินในลักษณะดังกล่าว พร้อมอ้างว่าเป็นรถของเอกชนที่รับจ้างเข้าไปขุดตักดินโคลน จึงอาจไม่ทราบข้อตกลงหรือระเบียบชายแดน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศได้รับเรื่องดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดได้มีหนังสือประท้วงไปยังกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาเช่นกัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากฝ่ายเมียนมายุติการขุดตักดินดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศเมื่อต้นเดือน ก.ย.2567 เป็นต้นมา ไทย-เมียนมาได้พยายามฟื้นฟูพื้นที่ของตัวเอง พร้อมทำพนังดิน-วางบิ๊กแบ็คกั้นตามจุดต่างๆ ตลอดแนว โดยฝั่งไทยดำเนินการตั้งแต่จุดผ่อนปรนสายลมจอย ตรงกันข้ามบ้านปงถุงเรื่อยไปจนถึงสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1-ชุมชนเกาะทราย ส่วนฝั่งเมียนมามีพนังคอนกรีตอยู่ในบางจุดแล้วทำให้มีการขุดดินโคลนถมลงไปในลำน้ำสายดังกล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ชายแดนไทยใน จ.เชียงราย ระบุว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้มีการเสนอโครงการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพไทย-กองทัพบก ที่เข้าไปช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ ให้เจรจาในระดับรัฐบาลกับประเทศเมียนมา เพื่อขอให้มีการขุดลอกลำน้ำสาย ปรับพื้นที่ริมฝั่งทั้ง อ.แม่สาย และ จ.ท่าขี้เหล็ก ไปตลอดแนว

โดยการออกแบบการขุดลอกและปรับพื้นที่ริมฝั่ง เสนอให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันเขียนแบบร่วมกัน และแบ่งกันดำเนินการเป็นช่วงเวลา 2 ปีหรือ 5 ปี จนกว่าจะแล้วเสร็จ สำหรับพื้นที่ฝั่งไทยนั้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นของกรมธนารักษ์และที่สาธารณะ เมื่อโครงการเดินหน้าก็ต้องเข้าเจรจากับผู้ครอบครองให้ย้ายออกไปพร้อมๆ กับฝั่งเมียนมา โดยมีค่าชดเชยหรือให้สิทธิ์ในการค้าขายบนพนังใหม่ที่จะสร้างขึ้นตลอดแนว เป็นต้น

อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับรัฐบาลเป็นสำคัญเพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ.


กำลังโหลดความคิดเห็น