แพร่ - ชาวบ้านชุมชนอนุรักษ์ชี้เป้า..โรงงานแปรรูป แหล่งฟอกไม้เถื่อนเป็นเฟอร์นิเจอร์ถูกกฎหมาย ตัวการลอบตัดไม้มีค่าสองข้างทาง-สวนป่า ระบุการขออนุญาตโรงงานแปรรูปไม้ โรงงานสิ่งประดิษฐ์และร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ ส่อเปิดช่องคอร์รัปชัน-กินเงียบไร้การตรวจสอบ
กว่า 1 สัปดาห์แล้วที่เกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดต้นไม้สักขนาดใหญ่เส้นรอบวงกว่า 200 เซนติเมตรไปจากพื้นที่สาธารณะเขตอนุรักษ์ป่า ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าช้าของหมู่บ้านเปาปม-ดงยาง หมู่ที่ 7 บ้านเปาปม-ดงยาง ต.นาพูน อ.วังชิ้น จ.แพร่ ปากทางเข้าป่าชุมชนบ้านเปาปม-ดงยาง
มิหนำซ้ำ..ยังเป็นการลักลอบกระทำการในคืนที่กรรมการป่าชุมชนไปรับรางวัล “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” เป็นถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นการเย้ยกฎหมาย หยามหน้าผู้รับผิดชอบในชุมชนอย่างแรง
กระทั่งนายวิเชียร สมฤทธิ์ นายก อบต.นาพูน เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.ท.พิตตินันท์ คำศรีวาท พนักงานสอบสวนเวร สภ.นาพูน เมื่อเวลา 11.30 น.ของวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ที่ด่านปราบปรามยาเสพติด ด่านตำรวจบ้านดงยาง จุดสกัดบนทางหลวงหมายเลข 101 พบสภาพรถต้องสงสัย เป็นรถ 6 ล้อบรรทุกสีฟ้ามีเครนยก วิ่งผ่านจากบ้านบ่อแก้ว ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย ไปทางบ้านดงยางเวลา 22.00 น. และเวลา 24.00 น.มีรถไถสีส้มผ่านมาอีก 1 คัน
จนเวลา 05.58.32 น.คืนเดียวกันนั้นก็พบรถคันดังกล่าววิ่งกลับผ่านด่านอีกครั้ง แต่ภาพปรากฏท้ายกระบะมีท่อนซุงไม้สักจำนวน 2 ท่อน เวลา 05.58.54 น.รถไถคันสีส้มก็ได้เดินทางตามหลังรถกระบะบรรทุกท่อนซุง นอกจากนั้นยังมีรถเก๋งไม่ทราบยี่ห้อสีออกดำ (ในเวลากลางคืน) วิ่งผ่านในเวลาใกล้เคียงกันด้วย
และในห้วงก่อนที่รถต้องสงสัยทั้งหมดจะเข้าด่านตำรวจเล็กน้อย มีผู้พบเห็นมีรถเก๋งคันสีออกดำ เป็นรถนำจอดซุ่มอยู่ และรถไถมากกว่า 1 คัน พร้อมทั้งรถกระบะคันสีฟ้าดังกล่าวกำลังวิ่งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 101 มีโคลนติดล้อทำให้ถนนเลอะเป็นทางยาว ซึ่งจุดที่ชาวบ้านเห็นอยู่ห่างจากปากทางเข้าป่าชุมชนบ้านเปาปมดงยางเพียง 100 เมตรเท่านั้น
หลังจากนายวิเชียร สมฤทธิ์ นายก อบต.นาพูน ได้เข้าแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมิได้มาที่เกิดเหตุในทันที ซึ่งในสภาพที่เกิดเหตุมีรอยรถยนต์ขนาดใหญ่ และรถไถมากกว่า 1 คันจากขนาดล้อรถไถที่ไม่เท่ากันสามารถแยกได้ มีรอยรถติดหล่ม จนต้องตัดต้นไม้ที่กีดขวางทางทิ้งอีกหลายต้น มีร่องรอยขวดน้ำและรองเท้าแตะที่ตกอยู่ ชาวบ้านสันนิษฐานว่าต้องมีคนร่วมกันลักลอบมากกว่า 6 คน แต่พนักงานสอบสวนไม่ให้ความสนใจกับหลักฐานเหล่านี้
วันที่ 28 กันยายน ชาวบ้านพบบัตรประชาชนตกอยู่ในที่เกิดเหตุ 1 ใบ ระบุชื่อ นายวันชัย ระบุภูมิลำเนาอยู่ ต.แก้ง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี จึงได้แจ้งต่อ ร.ต.ท.พิตตินันท์ คำศรีวาท พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เดินทางมาตรวจสอบ ขณะเดียวกันเจ้าตัวก็เดินทางมาที่เกิดเหตุ เพื่อมาขอบัตรคืนโดยอ้างว่า “เป็นเจ้าของรถบรรทุกสีฟ้า ได้ไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแล้วเพราะไม่ใช่ผู้ตัดไม้แต่อย่างใด เมื่อกลับจาก สภ.นาพูน ได้ขึ้นมาที่เกิดเหตุและทำบัตรตกไว้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดบัตรประชาชนไว้ ไม่คืนให้เจ้าของบัตรเพราะเป็นหลักฐานที่ชาวบ้านตรวจพบ
อย่างไรก็ตาม แนวทางสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.นาพูน ยังไม่คืบหน้ามากนัก ขณะที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 7 วัน ใครเป็นเจ้าของรถไถ รถไถกี่คัน ทำไมพนักงานสอบสวนไม่นำมาสอบตามที่พยานเห็น การที่พยานไปให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็พบว่ามีผู้อ้างถึงผู้มีอิทธิพลในบ้านดงยางเพื่อเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้พยาน
จากการสอบถามชาวบ้านบ่อแก้วระบุว่านายวันชัย ที่ทำบัตรประชาชนตกอยู่ที่บริเวณจุดเกิดเหตุตัดไม้สักที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้นั้น ตั้งโรงงานแปรรูปไม้นอกประเภทและทำเฟอร์นิเจอร์จากเศษไม้รากไม้ ไม้ฉำฉา อยู่ที่ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ และยอมรับว่ารถบรรทุกสีฟ้าที่ผ่านด่านเป็นรถยนต์ของตน ขณะผ่านด่านนั้นไปขนไม้จากสวนทุเรียนที่บ้านดงยาง ติดกับด่านตำรวจประมาณ 100 เมตร ทางเข้าสวนทุเรียนอยู่ข้างๆ ดงยางโฮมสเตย์ เจ้าของดงยางโฮมสเตย์เป็นพยานได้ และไปดูร่องรอยการนำไม้ออกได้
ทั้งนี้ เรื่องการลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นธุรกิจสีเทา และการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นกับประเด็นที่ผู้ประกอบการมิได้ทำตามกฎหมายแต่ก็มิได้ถูกจับดำเนินคดี หรือเรื่องนี้จะมีการส่งส่วยไปถึงข้าราชการระดับสูงในจังหวัดหรือระดับภาคก็เป็นได้
และเป็นที่น่าสงสัยกับโรงงานที่มีทั้งเลื่อยยนต์ เลื่อยวงเดือนแปรรูปไม้ซุงขนาดใหญ่ และประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในโรงงานเดียวกัน โดยเฟอร์นิเจอร์มีไม้สักประกอบด้วย โรงงานเหล่านี้ขออนุญาตประเภทใด เสียภาษีอย่างไร และนำออกไปจำหน่ายในร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ริมทางได้อย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม้มีค่าสองข้างทางหลวงหมายเลข 101 ระหว่างเขต อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ขึ้นเหนือผ่าน ต.นาพูน อ.วังชิ้น และ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย เป็นไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ที่สร้างความสวยงามร่มรื่น ดูดซับคาร์บอนในอากาศได้เป็นอย่างดี ไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดูแล ไม้สองข้างทางกรมทางหลวงดูแล ส่วนที่สาธารณประโยชน์ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ ล้วนอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกลักลอบตัดส่งเข้าโรงงานเฟอร์นิเจอร์