xs
xsm
sm
md
lg

อยุธยาน้ำท่วมขยายวงกว้าง ท่วมแล้ว 7 อำเภอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - อยุธยาน้ำท่วมขยายวงกว้าง ท่วมแล้ว 7 อำเภอ ขณะโบราณสถานสำคัญเร่งวางแนวป้องกันหวั่นได้รับความเสียหาย

วันนี้ (2 ต.ค.) สถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมตอนนี้ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,899 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องติดต่อหลายกันวัน ทำให้ปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงมีปริมาณสูงขึ้น 7 อำเภอ 88 ตำบล 486 หมู่บ้าน 17,649 ครัวเรือน อำเภอเสนา รวม 11 ตำบล 84 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 4,658 ครัวเรือน อำเภอบางบาล รวม 16 ตำบล 97 หมู่บ้าน 3,780 ครัวเรือน อำเภอผักไห่ รวม 11 ตำบล 57 หมู่บ้าน 1,578 ครัวเรือน อำเภอบางไทร รวม 21 ตำบล 103 หมู่บ้าน 3,211 ครัวเรือน อำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 17 ตำบล 64 หมู่บ้าน 9 ชุมชน 1,427 ครัวเรือน อำเภอบางปะอิน รวม 11 ตำบล 77 หมู่บ้าน 2,925 ครัวเรือน และอำเภอบางปะหัน รวม 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน 70 ครัวเรือน รวมถึง ฝวัด 13 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง โรงเรียน 26 แห่ง (เป็นศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง) สถานที่ราชการ 5 แห่ง ถนนภายในหมู่บ้าน 20 สาย

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวสำรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สามแยกแม่น้ำ หน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร พบว่ามวลน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ที่มาไหลรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ พบว่า มวลน้ำยังคงมีปริมาณมากและไหลแรงทำให้หลายจุดมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน 2 ฝั่งริมแม่น้ำ รวมวัดและโบราณสถานหลายแห่งที่เร่งเตรียมการป้องกัน

เช่นที่หมู่บ้านโปรตุเกส ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โบราณสถานอีกหนึ่งแห่งที่สำคัญ ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปกร และเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นำรถแบ็กโฮมายแผ่นปูนกว่า 100 แผ่น ความสูงกว่า 3 เมตร มาทำการปักตั้งเป็นแนวกำแพงแบริเออร์ ระยะทางกว่า 50 เมตร ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับเตรียมนำผ้าใบมาคลุมและวางกระสอบทรายทับ เพื่อเตรียมการป้องกันน้ำที่ขึ้นสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

หมู่บ้านโปรตุเกส บ้างเรียกบ้านพุทธเกศ หรือ บ้านดิน เป็นที่อยู่ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2054 โดยอาฟงซู ดึ อัลบูแกร์กึ ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกสประจำเอเชีย ได้ส่งดูวาร์ตึ ฟือร์นังดึช เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบัน ซากสิ่งก่อสร้างคือโบราณสถานซานเปโตร หรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์ดอมินิก เป็นโบสถ์ในคณะดอมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อ พ.ศ.2083 ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

โบราณสถานซานเปโตรประกอบไปด้วย ส่วนหน้า เป็นสุสานของชาวคาทอลิกคณะโดมินิกัน ส่วนกลาง ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังและด้านข้างเป็นที่พักอาศัย มีการค้นพบโบราณวัตถุ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้ว และเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ








กำลังโหลดความคิดเห็น