xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ มรภ.โคราชเรียกร้องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาไทยใหม่โดยเร็วที่สุด ชี้ล่าช้ามานานไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อธิการบดี มรภ.นครราชสีมาเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาไทยใหม่โดยเร็วที่สุด ชี้ล่าช้ามานานและไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงแล้ว ย้ำควรเน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งครูและผู้ปกครองต้องปรับแนวคิดร่วมกัน

จากกรณีที่ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการศึกษาของไทยว่าคุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลมาก โดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องการคิดวิเคราะห์ การเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการสื่อสารอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ โดยยกตัวอย่างจากคะแนนการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือปิซ่า ที่นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำในทุกรายวิชา ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนการสอนขาดคุณภาพ ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งผลกระทบไปถึงการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ทั้งอาชีวศึกษา อุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับอาชีวะ ที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หลักสูตรล้าสมัย เป็นหลักสูตรเก่าที่ใช้มานานกว่า 10 ปี รวมถึงยังมีปัญหาขาดแคลนครูในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ จึงได้เสนอให้มีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาไทยใหม่ รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการการศึกษาระดับจังหวัด ให้จัดหลักสูตรภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา และเร่งพัฒนาครูผู้สอนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกนั้น

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ล่าสุดวันนี้ (1 ต.ค. 67) รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หากถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะให้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ตนเองมองว่ามันเกินเวลาไปมากแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากประเทศไทยมีแผนที่จะปรับหลักสูตรฐานสรรถนะ (Competency-based Curriculum) มานานหลายปีแล้ว แต่ถูกต่อต้านจากครูหรืออาจารย์ผู้สอน ซึ่งไม่นิยมความเปลี่ยนแปลง จึงทำให้การปฏิรูปหลักสูตรไม่ประสบความสำเร็จเสียที


ตนเองขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของไทยใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิงด้วย จึงอยากจะทำความเข้าใจกับผู้ที่ออกมาต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ หรือผู้ปกครองนักเรียนว่าหลักสูตรใหม่ที่จะปรับเปลี่ยน ไม่ควรที่จะให้นักเรียนไปเรียนอะไรมากเกินความจำเป็น แต่ควรให้เรียนเฉพาะทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมีคนวิเคราะห์วิจัยออกมาให้ทั้งหมดแล้ว แต่ถึงแม้ว่าจะปรับหลักสูตรใหม่แล้ว ถ้าครูผู้สอนยังสอนแบบเดิมๆ ไม่มีการปรับตัวใหม่ รวมทั้งผู้ปกครองยังคงอยากให้ลูกหลานเรียนหลักสูตรที่ไม่ค่อยจำเป็นมากๆ เข้าไว้ ก็จะไม่เกิดผลประโยชน์อะไร

ดังนั้นทั้งครูและผู้ปกครองก็ต้องปรับแนวความคิดใหม่ทั้งหมดด้วย ซึ่งเรื่องนี้ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้สามารถปรับหลักสูตรการศึกษาไทยให้สำเร็จได้โดยเร็ว


รศ.ดร.อดิศรกล่าวอีกว่า ส่วนการจะกระจายอำนาจโดยให้มีการตั้งคณะกรรมการการศึกษาระดับจังหวัดนั้น โครงสร้างปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว โดยระดับชาติ คือ สพฐ. ระดับมัธยมศึกษา คือ สพม. และระดับประถมศึกษา คือ สพป. ซึ่งมีการกระจายอำนาจทางการบริหาร และทางวิชาการอยู่แล้ว แต่ต้องกลับมาทบทวนโครงสร้างการจัดการเรียนการสอนใหม่ที่จะลงไปสู่โรงเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้โรงเรียนขนาดใหญ่ยังใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะบ้านเรามีโรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารมากมาย เฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 120 คนมีมากถึง 60% ซึ่งบางโรงเรียนโชคดีหน่อยที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ดี


แต่ขณะเดียวกันยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกกว่า 90% ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น มีครูอยู่แค่ 3 คน ต้องสอนเด็กนักเรียนประมาณ 80 คน แล้วรัฐบาลมีนโยบายว่า จะทำให้เด็กนักเรียนไทยทุกคนเก่งคณิตศาสตร์ เก่งภาษาอังกฤษ สามารถคิดวิเคราะห์เป็น แล้วจะให้เอาครูที่ไหนไปสอนภาษาอังกฤษ-คณิตศาสตร์ ในเมื่อครูยังมีไม่ครบชั้นเรียนเลย ดังนั้นโรงเรียนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้าจำเป็นจะต้องยุบก็ต้องยุบ รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยบริหารจัดการศึกษาด้วย


รัฐบาลอย่าอ้างแต่ผลคะแนนสอบปิซ่า เพราะเด็กไทยขณะนี้ให้ไปสอบปิซ่า อย่างไรก็คะแนนตกแน่นอน เพราะปิซ่า ไม่ใช่การสอบวัดสมรรถนะ หรือคุณภาพตามวิชาที่เด็กเรียนมา แต่เป็นการสอบวัดกำลังพลว่าเยาวชนไทยมีคุณภาพในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาแบบบูรณาการ สามารถเข้าสู่ภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ เพราะโออีซีดีนำการวัดผลปิซ่านี้ไปประเมินว่าเหมาะสมที่จะมาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่

อย่าว่าแต่เด็กนักเรียนจะสอบตกปิซ่าเลย ต่อให้ครูผู้สอนไปสอบก็สอบตกเหมือนกัน เพราะหลักสูตรการศึกษาของไทยนิยมแบบท่องจำและนำไปตอบคำถามตามที่ได้เรียนมา ถึงแม้ว่าจะมีวิเคราะห์บ้างแต่ก็วิเคราะห์แบบผิวเผินเท่านั้น รวมทั้งการสอบโอเน็ตก็ต้องปรับด้วยเช่นกัน รศ.ดร.อดิศรกล่าวในตอนท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น