ศูนย์ข่าวขอนแก่น - หนุ่มใหญ่ชาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กลับบ้านเกิด หาอาชีพเลี้ยงครอบครัว ไอเดียล้ำ รับจ้างซ่อมคันนาให้ชาวบ้านที่ปลูกข้าว หลังเกิดฝนตกหนักทำให้น้ำกัดเซาะคันนาขาด เผยสร้างรายได้วันละเกือบ 1,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงนี้เกิดฝนตกหนัก น้ำในแม่น้ำลำคลอง เอ่อล้นท่วมนาข้าว ทำให้ข้าวเสียหาย หรือบางจุดที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวสร้างความเสียหายในไร่นา ทำให้คันนาเสียหาย คันนาขาด ซึ่งจำเป็นต้องซ่อมคันนาเพื่อกักเก็บน้ำในนาข้าวได้ โดยนายวิวัฒน์ นารี อายุ 44 ปี ชาวบ้านสระกุด หมู่ 14 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่หันมาประกอบอาชีพซ่อมคันนาข้าวให้ชาวบ้านในละแวกอำเภอน้ำพอง ถือเป็นอีกอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้
ล่าสุดคิวงานซ่อมคันนาข้าวของนายวิวัฒน์ พบว่าได้รับการว่าจ้างจากชาวบ้านปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ อ.น้ำพอง ให้ไปซ่อมแซมคันนาแทบทุกวัน จนต้องมีการจองคิวกันแบบรายสัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงนี้จังหวัดขอนแก่นมีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำขังในทุ่งนาจำนวนมากจนกัดเซาะคันนาขาด ชาวบ้านที่ไม่มีแรงก็ต้องว่าจ้างให้ไปช่วยอุดและซ่อมแซมคันนาที่ขาดให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ โดยนายวิวัฒน์จะนำจอบ มีด เลื่อย ค้อนปอน และกระสอบปุ๋ย เป็นอุปกรณ์พกติดตัวไปทุกวัน ได้รับฉายาจากผู้ว่าจ้างว่า “นักซ่อมคันนา” สร้างรายได้วันละ 500-1,000 บาท
นายวิวัฒน์บอกว่าก่อนหน้านี้ตนเองประกอบอาชีพรับจ้างขับรถพ่วงในพื้นที่ภาคกลาง ทำมากว่า 20 ปี กระทั่งผู้เป็นพ่อล้มป่วยและเสียชีวิตจึงกลับมาอยู่ที่บ้าน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อดูแลแม่ ทำให้ได้มาสานต่อการทำนาจากพ่อ ปีแรกที่มาอยู่บ้านยอมรับว่าทำนาไม่เป็น จึงเริ่มต้นจากรับจ้างตัดหญ้าให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มหารายได้จากอะไร เมื่อตัดหญ้าไปได้สักระยะก็มีชาวบ้านจ้างวานให้ไปช่วยซ่อมคันนา
ตอนนั้นตนก็ทำไปโดยไม่มีความรู้ เริ่มจากเอากระสอบปุ๋ยใส่ดินไปวางขวางทางน้ำไหลแต่ก็ไม่ได้ผล ลองผิดลองถูก จนเกิดไอเดียจากการสร้างบ้าน ว่าถ้าหากมีอะไรที่เป็นเส้นใยมาเสริม เช่นการเทพื้นปูนที่มีเหล็กไวร์เมชมาเสริมความแข็งแรง ก็จะช่วยให้การซ่อมคันนามีความแข็งแรงมากขึ้น จึงนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ โดยนำเอาหญ้าแห้งมาขยำคลุกเคล้าเข้ากับดินโคลน เพื่อใช้เป็นวัสดุที่เรียกว่า “ยาแนว” ซึ่งทำให้สามารถปิดรอยรั่วไว้ได้เป็นอย่างดี
นายวิวัฒน์เล่าต่อว่า ขั้นตอนการซ่อมคันนา หรือคันแทนา เริ่มจากการตรวจสอบความเสียหายของคันนาว่ามีรูรั่วกว้าง ยาว และลึกขนาดไหน เมื่อทราบขนาดความเสียหายแล้วจะทำการตัดกิ่งไม้มาใช้เป็นหลักเพื่อตอกเป็นเสาค้ำยัน จากนั้นจะขุดเอาดินใส่ในกระสอบปุ๋ยนำไปวางลงในจุดที่คันนาขาดจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านได้ หรือไหลผ่านได้น้อยที่สุด นำเอาเศษหญ้ามาขยำคลุกเคล้าเข้ากับดินโคลนเพื่อใช้เป็นวัสดุที่เรียกว่า “ยาแนว”
จากนั้นนำเอาท่อนไม้ขนาดกลางมาวางในแนวขวาง แล้วนำเอาไม้ที่ตัดเป็นท่อนมาตอกเป็นหลักค้ำยันทั้งสองด้าน แล้วยาแนวด้วยหญ้าที่ผสมกับโคลนตมอีกครั้ง ก่อนจะขุดเอาดินทับถมลงที่กระสอบปุ๋ยอีกครั้ง ก็จะทำให้ช่องคันนาที่ขาดชำรุด สามารถกั้นน้ำเอาไว้ได้นานและทนทาน
การซ่อมคันนาไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ความอดทน และความใจเย็น เนื่องจากบางจุดที่ขาดลึก นอกจากจะต้องใช้เวลาซ่อมมากถึงครึ่งวันแล้ว ยังต้องใช้พละกำลังขุดดินด้วย และด้วยความยากนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนที่ทำนา โดยเฉพาะผู้สูงวัย ทำเองไม่ไหว จึงต้องว่าจ้างหาคนไปช่วยซ่อมคันนา จนเกิดเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ตนเองในช่วงนี้ด้วย สำหรับชาวจังหวัดขอนแก่นที่คันนาขาดชำรุดหากต้องการซ่อมแซมคันนา สามารถติดต่อว่าจ้างได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-1610-9400