พิษณุโลก - ป.ป.ช.ภาค 6 แถลงผลงานดำเนินคดีอดีตนายอำเภอท่าสองยางกับพวกรวม 10 คน ทุจริตโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพายุ “นกเตน” ปี 2554 เบิกจ่ายงบ ไม่มีงานก่อสร้างจริง ศาลคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุกสูงสุด 2,115 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษหนึ่งในสาม คงเหลือจำคุกคนละ 1,269 ปี แต่ติดคุกจริง 50 ปี
นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดจำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และจังหวัดอุทัยธานี แถลงข่าวผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด วานนี้ (17 ก.ย.) ที่ห้องพระพุทธชินราช ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก โดยชี้แจงรายละเอียดหลายคดี หนึ่งในนั้นคือ กรณีกล่าวหา นายสมชาย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กับพวก ทุจริตในการดำเนินการโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อปี 2554 ซึ่งได้ดำเนินโครงการจำนวน 423 โครงการ
โดยปี 54 เกิดอุทกภัยจากพายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้น้ำท่วมขังที่อำเภอท่าสองยาง จึงได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ แต่ในการดำเนินการ นายสมชาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ได้ร่วมกันจัดหาผู้รับจ้าง ด้วยการสั่งการให้ผู้ปกครองท้องที่ ในเขตพื้นที่ทำการจดทะเบียนจัดตั้งร้านค้าและนำมาเป็นคู่สัญญาในโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง และการดำเนินการของคณะกรรมการชุดต่างๆ ไม่ได้กระทำการถูกต้องตามระเบียบ
เช่น บางโครงการไม่มีการควบคุมงาน บางโครงการไม่มีการตรวจการจ้าง อีกทั้งยังมีการเบิกจ่ายเงินโดยไม่ถูกต้อง ทั้งมีการเบิกจ่ายเงินไม่เต็มตามจำนวนที่รับจ้าง เบิกจ่ายเงินให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้รับจ้าง และเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการก่อสร้างจริง
นายสมชาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก มีการกระทำในลักษณะเดียวกันถึง 3 ครั้ง ตามงบประมาณที่ ได้รับการจัดสรร รวมกว่า 73 ล้านบาท (ครั้งที่ 1 7,999,600 บาท, ครั้งที่ 2 7,999,600 บาท และครั้งที่ 3 ครั้งที่ 1 57,642,600 บาท) จำนวนโครงการรวม 423 โครงการ และในช่วงเวลาเกิดเหตุตรวจพบความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือธุรกรรมทางการเงิน ของนายสมชาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท (26,595,780 บาท)
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติ คือ (1) การกระทำของนายสมชาย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนางกมลทิพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
(2) การกระทำของนายประทีป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายเกรียงศักดิ์ หรือภูดิศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 151มาตรา 157 มาตรา 162 (1)(4) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
(3) การกระทำของนายฉลองชัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายขุนทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนายกฤตธัช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
(4) การกระทำของนายเกรียงไกร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
(5) การกระทำของนางสาวศิริลดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
(6) การกระทำของนายนพรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
(7) การกระทำของนางทองสี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสิบเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 รวมคนละ 423 กระทง จำเลยที่ 4 รวม 130 กระทง จำเลยที่ 5 รวม 273 กระทง จำเลยที่ 10 รวม 334 กระทง
แต่การกระทำของจำเลยทั้งสิบแต่ละคนและแต่ละกระกระทงนั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โดยความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 และความผิดฐานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดกว่าบทอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8, คนละ 5 ปี รวม 423 กระทง รวมเป็นจำคุกคนละ 2,115 ปี
ลงโทษจำเลยที่ 4 รวม 130 กระทง รวมเป็นจำคุก 130 ปี จำเลยที่ 5 รวม 273 กระทง รวมเป็นจำคุก 273 ปี จำเลยที่ 9 รวม 423 กระทง รวมเป็นจำคุก 423 ปี
ลงโทษจำเลยที่ 10 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ฯลฯ กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 334 กระทง รวมเป็นจำคุก 1,002 ปี 1,336 เดือน
ทางนำสืบและคำให้การของจำเลยทั้งทั้งสิบในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นบางส่วน มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 สมควรลดโทษให้คนละกระทงละหนึ่งในสาม จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 คงจำคุกกระทงคนละ 3 ปี 4 เดือน รวม 423 กระทง รวมจำคุกคนละ 1,269 ปี 1692 เดือน จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 9 คงจำคุกกระทงละคนละ 8 เดือน จำเลยที่ 4 รวม 130 กระทง รวมคงจำคุก 1,040 เดือน จำเลยที่ 5 รวม 273 กระทง รวมคงจำคุก 2,184 เดือน
จำเลยที่ 9 รวม 423 กระทง รวมคงเป็นจำคุก 3,384 เดือน จำเลยที่ 10 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน รวม 334 กระทง รวมคงจำคุก 668 ปี 668 เดือน 6,680 วัน แต่เมื่อรวมโทษประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 กระทงความผิดของจำเลยทั้งสิบแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 คนละในเกิน 50 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ และที่ 9 คนละไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) (3)
สำหรับจำเลยที่ 1 นายอำเภอ จำเลยที่ 2 เสมียนตราอำเภอ จำเลยที่ 3 ปลัดอำเภอฝ่ายบริหารงานปกครอง จำเลยที่ 4 ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตรจำทำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ปลัดอำเภอ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการรับเงิน รถได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการรับเงินเพื่อไปจ่ายให้กับผู้รับจ้างตามโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำเลยที่ 7 เจ้าหน้าที่ปกครองชำนาญงาน จำเลยที่ 8 พนักงานราชการ จำเลยที่ 9 หัวหน้าส่วนโยธา อบต.แม่สอง อำเภอท่าสองยาง จำเลยที่ 10 ผู้รับเหมาก่อสร้าง
ทั้งนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด ต้องรอฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์อีกครั้ง