ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวโคราชเซ็ง! บ่นอุบเบื่อรัฐบาลเลื่อนจ่ายเงินดิจิทัล 1 หมื่น เฟส 2 ออกไปโดยไม่มีกำหนด หลังเจอโรคเลื่อนมาหลายครั้ง จนไม่เชื่อมั่นว่าจะได้รับเงินหมื่นจากรัฐบาลแล้ว
วันนี้ (17 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณวินจักรยานยนต์รับจ้างและรถตุ๊กตุ๊ก ตลาดใหม่แม่กิมเฮง เขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล หลังจากกระทรวงการคลังได้เลื่อนประกาศผลการรับสิทธิสำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ไว้ก่อนหน้านี้ จากวันที่ 22 กันยายน 2567 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
พร้อมทั้งเลื่อนการเปิดลงทะเบียนสำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผ่าน 3 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเดิมมีกำหนดเริ่มเปิด 16 กันยายน 2567 ออกไปอย่างไม่มีกำหนดเช่นกัน เนื่องจากต้องการรอให้กระบวนการจ่ายเงินในเฟสแรกกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคน เสร็จสิ้นก่อน
จากการสอบถามผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งมีทั้งที่ลงทะเบียนไปแล้วและยังไม่ได้ลงทะเบียน ต่างมีความคิดเห็นในทำนองไม่มั่นใจว่าจะได้เงินดิจิทัล 10,000 บาทก้อนนี้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการเลื่อนการจ่ายเงินของนโยบายมาหลายครั้ง และยังมองต่ออีกว่าเงื่อนไขของการลงทะเบียนและการใช้เงินเป็นอุปสรรคต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
นายจรูญ ธนนไชย อายุ 74 ปี คนขับรถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง บอกว่า ตนยังไม่ได้ลงทะเบียนโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทเนื่องจากไม่สะดวกใช้โทรศัพท์มือถือเพราะไม่มีอินเทอร์เน็ต จึงต้องรอไปลงทะเบียนที่ธนาคารสำหรับผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แต่หลังจากทราบข่าวว่าทางรัฐบาลได้ประกาศเลื่อนออกไปตนก็รู้สึกเบื่อและไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะได้เงิน 10,000 บาทก้อนนี้ เพราะรัฐบาลเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง จนตอนนี้ตนไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะได้เงิน 10,000 บาทจากรัฐบาล
นายจรูญบอกอีกว่า ถ้ารัฐบาลอยากแจกเงินช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ไม่ควรที่จะสร้างเงื่อนไขหรือขั้นตอนในการขอรับเงินยุ่งยากอย่างนี้ ซึ่งตนไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ ก็ต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคาร และล่าสุดก็มีประกาศเลื่อนการลงทะเบียนออกไปอีก ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขเดิมตนก็ต้องสละเวลาทั้งวันเพื่อไปลงทะเบียน ยอมขาดรายได้จากการขับรถตุ๊กตุ๊กไป ซึ่งหากลงทะเบียนสำเร็จแล้ว ขั้นตอนในการใช้ก็ค่อนข้างยุ่งยากอีก เงื่อนไขเยอะ ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลจ่ายเงิน 10,000 บาทโดยโอนเข้าบัญชีหรือไม่ก็จ่ายผ่านทางแอปฯ เป๋าตังซึ่งแทบทุกคนจะมีแอปฯ นี้อยู่แล้วจากโครงการของรัฐบาลก่อน หากทำได้ก็จะสร้างความสะดวกแก่ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือผู้สูงอายุ จะได้ใช้เงิน 10,000 บาทนี้ได้สะดวกมากขึ้น