บุรีรัมย์ - ยายวัย 70 ปีชาวบุรีรัมย์ โอดไม่มีที่ทำกินหาเช้ากินค่ำแต่ทำบัตรคนจนไม่ผ่าน อดรับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กลุ่มเปราะบาง
วันนี้ (13 ก.ย.67) จากการสำรวจบรรยากาศการค้าขายของที่ตลาดนัด หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ค่อนข้างเงียบเหงา มีข้าราชการ ประชาชนมาเดินจับจ่ายซื้อของค่อนข้างบางตา ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวของแพงขึ้นแต่ค้าขายลำบากรายได้ลดลง ส่วนมากต่างรอลุ้นเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่รัฐบาลชุดใหม่แถลงนโยบายไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะเริ่มจ่ายเงินสดในโครงการดิจิทัลวอเล็ต 1 หมื่นบาท ในวันที่ 25 ก.ย.67 ให้กับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.2 ล้านคนเป็นกลุ่มแรก เชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ผู้สูงอายุหลายคนก็ผิดหวัง ทั้งที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ไม่มีเงินฝากในบัญชี แค่ค้าขายหาเช้ากินค่ำไปวันๆ กลับลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนไม่ผ่าน ทำให้เสียโอกาสจะได้รับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กลุ่มเปราะบาง เป็นกลุ่มแรก
อย่างเช่น คุณยายน้อย ประสมทรัพย์ อายุ 70 ปี ชาวบ้านหนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่นำผัก ผลไม้ และปลามานั่งขายที่ตลาดนัดในเมือง บอกว่า รู้สึกแปลกใจทั้งที่ตนเองไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเงินฝากในบัญชี แค่ค้าขายหากินไปวันๆ แต่ที่ผ่านมาพยายามไปลงทะเบียนทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลายรอบ แต่ไม่ผ่าน แต่คนอื่นมีทั้งบ้าน รถยนต์ และที่ดิน กลับผ่าน ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับเงินดิจิทัลกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก หากเป็นไปได้อยากให้สำรวจใหม่ เพราะหวังว่าหากได้เงิน 1 หมื่นก็จะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้
ขณะที่ นายประพันธ์ สอวิหก อายุ 52 ปี พ่อค้าที่นำของมาขายตลาดนัด บอกว่า ตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มเปราะบางเหมือนกัน เพราะไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนตัวคิดว่าจ่ายช้าเพราะตอนนี้ก็ยังไม่เห็นมีใครได้สักคน แต่หวังว่าจะได้เงิน 1 หมื่นบาทมาใช้จ่ายแบ่งเบาภาระครอบครัวบ้าง แม้จะไม่ได้เป็นกลุ่มแรกแต่ก็ยังหวังว่าจะได้ และอยากได้เป็นเงินสด ใช้จ่ายสะดวกมากกว่า