xs
xsm
sm
md
lg

การลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่น ปัญหาโลกแตกของเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างมาก การทำความเข้าใจถึงปัญหานี้และร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการหาทางแก้ไขนับเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

... เรื่องผิดกฎหมายนี้ฝังรากลึกอยู่ในประเทศไทยมาช้านานและยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจวบจนปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ ไม่นับรวมกุ้งเครย์ฟิช ปลาซัคเกอร์  ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ ที่จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าใครลักลอบนำเข้ามา จนมันกลายเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย หรือแม้แต่ปลาดุร้ายอย่างปิรันย่าก็ยังเคยถูกตรวจจับได้ที่สนามบินดอนเมือง
 
ประเด็นการลักลอบนำเข้าปลาหมอคางดำถูกกล่าวถึงมากขึ้น เมื่อครั้งพบ 11 บริษัทส่งออกปลาชนิดนี้ไปจำหน่ายยัง 17 ประเทศ โดยไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้า ในขณะที่ธุรกิจส่งออกปลาเหล่านี้มักจะมีฟาร์มเพาะเลี้ยงก่อนที่จะส่งออกได้ นั่นหมายความว่า น่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาเลี้ยงจนได้จำนวนที่ต้องการจึงค่อยส่งไปประเทศปลายทาง เรื่องนี้เป็นที่น่ากังขาเรื่อยมา ยิ่งเมื่อมีข้ออ้างว่า เป็นการลงเอกสารชื่อปลาผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อหลบเลี่ยงการขอใบกำกับสุขภาพสัตว์น้ำหรือมาตรฐาน GAP ที่ต้องแสดงหากระบุตามจริงว่าเป็น ปลาหลังเขียว หรือปลาหมอมาลาวี เป็นข้ออ้างที่ใช้กับการส่งออกปลาหมอคางดำมากกว่า 3 แสนตัว รวม 212 ครั้ง ตลอด 4 ปี (2556-2559)

ข้ออ้างดังกล่าวดูเหมือนจะกลายเป็นการตอกย้ำว่า นี่คือการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทส่งออกปลากับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปลอมแปลงเอกสารสำหรับใช้ในการสำแดงเท็จ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ยอมรับได้  ภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องการส่งออกปลาเหล่านี้ควรลุกขึ้นมาแก้ต่าง อย่าปล่อยให้ภาพการทำงานของหน่วยงานด่างพร้อย ถึงขั้นเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการสำแดงเท็จเช่นนี้
 
ปัญหาการลักลอบนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” น่าจะไม่ต่างจากการลักลอบนำเข้า “ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์” ซึ่งถูกกำหนดเป็นชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2561 พร้อมกัน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2561 ขณะที่ปัจจุบัน กลับพบปลาหมอมายันที่คลองด่าน อ.บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และพบปลาหมอบัตเตอร์จำนวนมากในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่กลายเป็นเมนูเด็ดของร้านอาหารริมเขื่อนไปแล้ว
 
การออกประกาศดังกล่าวเป็นการนำกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ชัดเจนจะช่วยให้การควบคุมและตรวจสอบเข้มงวดขึ้นได้ หากแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันในการแก้ไขและป้องกันด้วย เช่น กรมประมง ตำรวจน้ำ กรมศุลกากร ความร่วมมือนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
เจ้าหน้าที่รัฐควรลงพื้นที่ตรวจตรา ตรวจสอบตามตลาดปลาต่างๆ เพื่อติดตามการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างสม่ำเสมอ กำหนดเป็นงานประจำที่มีความถี่ชัดเจนและควรเข้มข้นถึงการส่องตามท่อน้ำต่างๆ ที่เป็นอันรู้กันตลอดมาว่าหากปลาตัวไหนไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ผู้ค้าปลามักปล่อยปลาลงตามท่อเหล่านี้ (นัยว่าเพื่อเอาบุญ) กันเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่า การสร้างการตระหนักรู้ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันปลาลักลอบหลุดลอดลงแหล่งน้ำ รัฐต้องเพิ่มการศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับผลกระทบของการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ 

รวมถึงวิธีการป้องกัน ตลอดจนวิธีกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่านี้ปะปนออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติดังกล่าว การสร้างความตระหนักรู้เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้คนระมัดระวังมากขึ้นแล้ว สายบุญที่ชอบปล่อยปลาจะมีความรู้มากขึ้น และยังช่วยให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันเป็นหูเป็นตาและแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบการลักลอบนำเข้าหรือทำลายอย่างไม่ถูกวิธีด้วย นอกจากนี้ รัฐน่าจะต้องลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำด้วยอีกทางหนึ่ง
 
ปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นแม้จะมีอยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันแก้ไขไม่ได้ เหนืออื่นใดคือความตั้งใจและร่วมมือกันของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาครัฐ” ที่จำเป็นต้องเป็นหลักในการขับเคลื่อน เชื่อว่าภาคเอกชนและภาคประชาชน ยินดีที่จะร่วมมือเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้คงอยู่เพื่อลูกหลานในอนาคตแน่นอน






กำลังโหลดความคิดเห็น