เชียงราย - น้ำท่วมแม่สายวิกฤตข้ามคืนตั้งแต่ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ คนหนีน้ำติดบนตึก อดข้าวอดน้ำ-อพยพหนีไม่ได้หลายพันชีวิต บางจุดน้ำลึก 1-2 เมตร แถมเชี่ยวกรากแม้แต่เรือยังเข้าไม่ได้ ขณะลุงเขียงหมูวัย 70 ติดบนหลังตั้งแต่เมื่อวานยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
วันนี้ (11 ก.ย.) สถานการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดน เทศบาล ต.แม่สาย พบว่าระดับน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำสายที่ขุ่นคลั่ก ยังคงเพิ่มสูงขึ้นและเชี่ยวกราก ส่งผลทำให้บ้านเรือน ห้างร้าน อาคารพาณิชย์ ฯลฯ ถูกน้ำท่วมและปิดล้อมออกไปไหนไม่ได้หลายพันหลังคาเรือน
จุดวิกฤตตั้งแต่ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ ระดับน้ำสูงประมาณ 1-2 เมตรขึ้นไปและไหลเชี่ยว ทำให้การหนีน้ำออกจากอาคาร หรือการเข้าไปช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้ กระแสไฟฟ้า-น้ำประปาถูกตัดติดต่อกันเป็นวันที่สอง และสัญญาณโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้เป็นบางช่วง
วิกฤตน้ำสายล้นทะลักท่วมชายแดนไทย-เมียนมารอบนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนภายในเขตชุมชนหนาแน่นของเขตเทศบาล ต.แม่สายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงคืนที่ผ่านมา (10-11 ก.ย.) ระดับน้ำไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเสียงน้ำไหลเชี่ยวกระทบบ้านเรือน อาคารและสิ่งของต่างๆ ดังก้องตลอดทั้งคืน
ล่าสุดเช้านี้ระดับน้ำท่วมตามชุมชนต่างๆ หลายแห่งลึก 2-3 เมตร ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต้องอพยพออกมายังที่สูง ส่วนผู้ที่ติดอยู่ตามอาคารสูงต่างๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามนำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายแต่ก็ทำได้เพียงบางส่วนเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงหลายชุมชนที่ประกาศเป็นพื้นที่สีแดงได้ คือ ชุมชนสายลมจอย ชุมชนหัวฝาย ชุมชนผามควาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดงใต้ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้
โดยผู้ประสบภัยที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือชายอายุประมาณ 70 ปี ที่เรียกกันว่า ลุงเขียงหมู ซึ่งปีนหลังคาเต็นท์สีแดงรอความช่วยเหลือตั้งแต่เที่ยงวานนี้ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงกลางคืนที่ผ่านมา โดยมีการระดมกำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช และ ฉก.ทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ประมาณ 200 นาย เข้าไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยกู้ภัย ฯลฯ และเปิดสถานที่ให้ประชาชนได้ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวหลายจุดและตั้งโรงครัวบริเวณที่ว่าการ อ.แม่สาย
รวมทั้งระดมเรือท้องแบน เรือยนต์ ฯลฯ เพื่อนำอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งเข้าไปช่วยเหลือผู้อยู่ตามจุดต่างๆ หลายจุด อาทิ หลังคาบ้าน ซึ่งปฏิบัติการเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากน้ำที่เข้าท่วมมีลักษณะเป็นน้ำป่าไหลหลากที่ไหลเชี่ยวทำให้รถยกสูงของทหารหรือแม้แต่เรือท้องแบนไม่มีเครื่องยนต์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้