xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์ มช.จัดกิจกรรมวิชาการ "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" พบไทยน่าห่วงเสียชีวิตเฉลี่ย 1 รายทุกๆ 2 ชั่วโมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 ก.ย.ของทุกปี เผยสถานการณ์ปัญหาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง พบเสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 350 ราย หรือ 1 รายทุกๆ 2 ชั่วโมง ระบุสาเหตุเชิงลึกที่ซ่อนตัวอยู่มาจากโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการดูแลรักษา เน้นย้ำหมั่นเอาใจใส่คนใกล้ชิดและสังเกตสัญญาณเตือนทั้งคำพูดและพฤติกรรม


วันนี้ (10 ก.ย. 67) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน เฉลิมฉลอง 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ในวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี โดยกิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย การเสวนาในหัวข้อ การป้องกันการฆ่าตัวตาย, กิจกรรมการให้ความรู้ และคัดกรองโรคซึมเศร้า และแนวทางการป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่น, กิจกรรมให้ความรู้ และคัดกรองโรคซึมเศร้า, กิจกรรมการดูแลใจ และกิจกรรมสันทนาการ โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งกิจกรรมตอบคำถามรับของรางวัล

ทั้งนี้ รศ.นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า จากข้อมูลสำนักนโยบาย และยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 350 ราย หรือทุกๆ 2 ชั่วโมงมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 ราย ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จึงได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะสนับสนุนการจัดงานนิทรรศการให้ความรู้ และได้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความสำคัญต่อเรื่องที่เป็นแนวโน้มของสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งเนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะได้มีการจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ด้านการบริการวิชาการสู่สังคมด้วย


ขณะเดียวกัน ผศ.นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ ประธาน CLT ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ตรงกับวันที่ 10 กันยายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 ในปีหนึ่งๆ มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที การฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500 ถึง 5,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก

โดยปัญหาที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกถึงสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ คือโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะปัญหาโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าถือเป็นภาวะโรคเรื้อรังที่ไม่ต่างจากเบาหวาน หรือหัวใจ ไม่สามารถหายได้เอง ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลช่วยเหลือทางจิตเวช ดังนั้น ทางภาควิชาจิตเวชศาสตร์จึงร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชนเฉลิมฉลอง 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เพื่อให้ความรู้ และป้องกันโรคซึมเศร้าในทุกช่วงวัย สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการสื่อสารที่ดี เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จะช่วยป้องกัน และลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมต่อไป สมกับเจตนารมณ์ที่เป็นโรงพยาบาลในดวงใจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ว่าคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อยกระดับสุขภาวะอย่างยั่งยืน


นอกจากนั้นระบุว่า ทุกคนสามารถสังเกตสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตัวเองของคนใกล้ชิดได้ จากคำพูดหรือพฤติกรรม โดยอย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือเรื่องล้อเล่น แต่ให้มองเป็นความต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ด้วยการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม ให้กำลังใจสร้างความหวังว่าปัญหานั้นแก้ไขได้ คอยระวังอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในสายตา และให้อยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่เขาเตรียมไว้ เพื่อทำร้ายตัวเอง พร้อมแนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการสื่อสารที่ดี เอาใจใส่ซึ่งกันและกันจะช่วยป้องกัน และลดปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคม












กำลังโหลดความคิดเห็น